มารดาเด็กหญิงแอร์ เหยื่อนายจ้างทำร้ายร่างกายจนสาหัส ยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายและศาลมีคำสั่งไต่สวนคำร้องในการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล 4 พฤศจิกายน 2556

เมื่อวันอังคารที่ 17 กันยายน 2556 เวลาประมาณ 13.00 น. ที่ศาลจังหวัดกำแพงเพชร ทนายความของมารดาด.ญ.แอร์ ได้ยื่นฟ้องนายนที แตงอ่อน และนางสาวรัตนากร ปิยะวรธรรม นายจ้าง เป็นคดีแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการทำร้ายร่างกายเด็กหญิงแอร์ ขณะที่ทำงานรับใช้ในบ้านของนายจ้างทั้งสอง เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ได้รับความทุกข์ทรมาน เจ็บปวด ทำให้เสียสุขภาพจิตไม่สามารถไปไหนมาไหนได้อย่างเช่นคนปกติ ซึ่งรวมทั้งค่าเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยการผ่าตัด เป็นเงินทั้งสิ้น 4,603,233 บาท ศาลจังหวัดกำแพงเพชรกำหนดให้มีการไต่สวนคำร้องในการขอยกเว้นค่าธรรมศาล ของมารดา ด.ญ.แอร์ โจทก์ในคดีนี้วันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 เวลา 09.00 น.

เหตุการณ์ในคดีนี้เริ่มต้นเมื่อประมาณปี 2552 ขณะที่ ด.ญ.แอร์อายุประมาณ 7 ขวบ ได้หายออกไปจากบ้านพักที่บิดามารดาซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติชาวพม่า อาศัยอยู่ในไร่อ้อยของนายจ้าง ที่จังหวัดกำแพงเพชร มารดาของด.ญ.แอร์สงสัยว่าเหตุที่ทำให้ด.ญ.แอร์หายตัวไปเนื่องจากถูกนายจ้างคนเดิมซึ่งเป็นมารดาของนางสาวรัตนากร ปิยะวรรธรรม ลักพาตัวไปสืบเนื่องจากไม่พอใจที่มารดาและบิดาของด.ญ.แอร์ได้เปลี่ยนนายจ้างคนใหม่ แต่มารดาของด.ญ.แอร์ไม่กล้าเข้าไปตรวจสอบในบ้านของนายจ้างคนเดิมเพราะถูกขู่ว่าจะนำตำรวจมาจับกุมหากไม่ปรากฏว่ามีด.ญ.แอร์อยู่ภายในบ้านของนายจ้างคนเดิม จนกระทั่งเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2556 ด.ญ.แอร์ได้หนีออกมาได้และมาร้องขอความช่วยเหลือจากพลเมืองดี กระทั่งได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ของบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดกำแพงเพชร และหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่ โดยด.ญ.แอร์ได้ให้ข้อมูลว่าถูกนายจ้างคนเดิมของบิดามารดาลักพาตัวจากบ้านพักที่อยู่ในไร่อ้อยของนายจ้างคนใหม่ของบิดามารดา และบังคับให้ทำงานเป็นเด็กรับใช้ในบ้านของนายนที แตงอ่อน และนางสาวรัตนากร ปิยะวรธรรม ในช่วงที่ทำงานอยู่กับนายจ้างทั้งสองนั้น ด.ญ.แอร์ได้ถูกนายจ้างร่วมกันทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งปรากฏบาดแผลส่วนหนึ่งที่เกิดจากการถูกนายจ้างใช้น้ำเดือดราดลงไปที่บริเวณร่างกาย เป็นเหตุให้เกิดบาดแผลบนร่างกายของด.ญ.แอร์บางส่วน อีกทั้งมีพังผืดยึดติดกับลำตัวจนไม่สามารถกางแขนและมีพังผืดยึดที่ข้อศอกไม่สามารถงอแขนได้ เจ้าหน้าที่จากบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดกำแพงเพชรจึงนำตัวด.ญ.แอร์เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพมหานคร

โดยในคดีอาญา พนักงานสอบสวนได้ขออนุมัติศาลเพื่อออกหมายจับนายจ้างทั้งสองข้อหา*ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสโดยการทรมาน หรือการกระทำทารุณ โหดร้าย, หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังได้รับอันตรายสาหัส, หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นและให้ผู้อื่นนั้นกระทำการใดๆ ให้แก่ผู้กระทำหรือบุคคลอื่น, ร่วมกันเอาคนลงเป็นทาสหรือมีฐานะคล้ายทาส, ร่วมกันพามาจากที่ใด หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังเด็กอายุ ไม่เกิน 15 ปี จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส, ร่วมกันพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี และร่วมกันค้ามนุษย์ ซึ่งปัจจุบันนายจ้างทั้งสองได้หลบหนีระหว่างการประกันตัว และเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2556 พนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อขอให้มีการสืบพยานที่เป็นมารดาและด.ญ.แอร์ไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 ทวิ

ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ยังเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็กผู้ซึ่งตกเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ และนอกจากการดำเนินคดีกับนายจ้างตามกฎหมายแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องจัดสรรการเยียวยาให้แก่เด็กโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นที่ตั้ง มิใช่เพียงแค่สนับสนุนการเยียวยาในรูปแบบเงินเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงสวัสดิภาพของเด็กและบุคคลในครอบครัวตลอดระยะเวลาดำเนินคดีด้วย และไม่ควรละเลยการเยียวยาโดยสังคมและทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในอนาคตด้วยเช่นกัน



ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ นางสาวอรวรรณ วิมลรังครัตน์ ทนายความ 088-289 1788 หรือ นางสาวปรีดา ทองชุมนุม ผู้ช่วยเลขาธิการ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา 089 459 0212