EP 1: แรงงาน NGO: ทำเพื่อสังคม แต่ใครคุ้มครอง?


EP 1: แรงงาน NGO: ทำเพื่อสังคม แต่ใครคุ้มครอง?

Power Labors Podcast

แขกรับเชิญ: จีรนุช เปรมชัยพร
ที่ปรึกษาเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (Constitution Advocacy Alliance – CALL)

แรงงานภาคประชาสังคม: แรงขับเคลื่อนเพื่อสิทธิ แต่ไร้หลักประกัน

ในตอนแรกของ Power Labors Podcast เราจะพาคุณไปรู้จักและสำรวจโลกของ “แรงงานภาคประชาสังคม” หรือ “แรงงาน NGO” ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และความเป็นธรรมในสังคม ทว่าภายใต้ความตั้งใจดีและอุดมการณ์เพื่อสาธารณะ พวกเขากลับต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงในอาชีพ ขาดสวัสดิการที่ชัดเจน และไม่ได้รับการคุ้มครองแรงงานอย่างเหมาะสม

โอกาสนี้ HRDF ได้ร่วมพูดคุยกับ จีรนุช เปรมชัยพร หรือ พี่จิ๋ว ที่ปรึกษาเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) ผู้มากประสบการณ์ในวงการ NGO และการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อค้นหาคำตอบว่า “แรงงานที่ทำเพื่อสังคม ใครคอยดูแลพวกเขา?”


แรงงานที่ไม่มีสัญญาจ้าง และความเปราะบางของภาคประชาสังคม

จีรนุชเล่าถึงประสบการณ์ที่พบเห็นในวงการ NGO ซึ่งเต็มไปด้วยแรงงานที่อุทิศตนเพื่อสังคม แต่กลับไม่มีความมั่นคงในการทำงาน บางองค์กรไม่มีการทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้เมื่อเกิดข้อพิพาทหรือภาวะวิกฤติ แรงงานเหล่านี้ไม่มีหลักประกันในการปกป้องตนเอง

หนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของแรงงานภาคประชาสังคม คือ การเปลี่ยนแปลงนโยบายระดับโลก เช่น คำสั่ง Executive Order ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ส่งผลกระทบต่อโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก USAID FUND ทำให้องค์กร NGO หลายแห่งต้องหยุดชะงักและเผชิญกับปัญหาทางการเงินโดยไม่ทันตั้งตัว

“NGO ไม่มีความมั่นคงด้านรายได้อยู่แล้ว แต่เมื่อแหล่งทุนหายไปกระทันหัน คนทำงานก็ต้องรับผลกระทบเต็ม ๆ” จีรนุชกล่าว


จากสถานการณ์ข้างต้น ทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า องค์กรภาคประชาสังคมควรมีแนวทางรองรับกรณีการสูญเสียแหล่งทุนหรือภาวะวิกฤติอย่างไร? ใน EP นี้ เราได้พูดคุยถึงประเด็นสำคัญดังนี้:

แรงงาน NGO มีสถานะเป็นแรงงานหรือไม่?ควรมีการตั้งกองทุนฉุกเฉินสำหรับพนักงานหรือไม่?แนวทางการเลิกจ้างที่เป็นธรรม (Fair Dismissal) ควรเป็นอย่างไร?ภาครัฐควรมีบทบาทอย่างไรในการคุ้มครองแรงงาน NGO?การรวมตัวของแรงงาน NGO เพื่อเรียกร้องสิทธิเป็นไปได้แค่ไหน?

จีรนุชเสนอแนวคิดว่า NGO ควรมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ใช่เพียงเพื่อประโยชน์ของพนักงาน แต่ยังช่วยลดภาระทางใจของผู้บริหารองค์กรเมื่อเกิดวิกฤติ “ถ้าแรงงานมีเงินก้อนสำรองไว้ จะช่วยให้พวกเขาออกจากงานโดยไม่ลำบาก และช่วยให้ผู้บริหารองค์กรไม่ต้องแบกรับความรู้สึกผิดมากนัก” เธอกล่าว


การรวมตัวของแรงงาน NGO: ทางออกที่เป็นไปได้?

ในหลายประเทศ แรงงานภาคประชาสังคมมีการรวมตัวกันเป็น Union หรือ สหภาพแรงงาน เพื่อเรียกร้องสิทธิ แต่ในไทย การรวมตัวของแรงงาน NGO ยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ จีรนุชมองว่าควรมีการริเริ่มตั้งสหภาพแรงงาน NGO อย่างจริงจัง เพื่อให้สามารถต่อรองเรื่องสิทธิและสวัสดิการได้

“เราต้องลุกขึ้นมาตั้งคำถามว่า คนทำงาน NGO ควรมีสิทธิพื้นฐานอะไรบ้าง? เราควรได้รับประกันสังคมไหม? เราควรมีเงินชดเชยหากถูกเลิกจ้างไหม? ถ้าเราไม่รวมตัวกัน เราก็จะถูกละเลยต่อไป” เธอกล่าว


อนาคตของแรงงาน NGO: ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไร?

NGO ไม่ใช่แค่กลุ่มคนที่ทำงานเพื่อสังคมเท่านั้น แต่ยังเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นบนความเสียสละที่เกินขอบเขตจนแรงงานต้องแบกรับภาระเพียงลำพัง

“งาน NGO ไม่ได้ทำให้เรารวย แต่เราควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เราควรได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายเช่นเดียวกับแรงงานอื่น ๆ” จีรนุชกล่าว

ใน EP แรกของ Power Labors Podcast นี้ เราหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการตั้งคำถามและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นสำหรับแรงงานภาคประชาสังคมในประเทศไทย


🎧 ฟังเต็ม ๆ ได้ใน EP 1: แรงงาน NGO: ทำเพื่อสังคม แต่ใครคุ้มครอง?

ติดตาม Power Labors Podcast ได้ทุกช่องทางเพื่อไม่พลาดการพูดคุยเรื่องสิทธิแรงงานและความเป็นธรรมในโลกการทำงาน!