ใบแจ้งข่าว: ตัวแทนองค์กรภาคแรงงานยื่นหนังสือถึงสำนักงานประกันสังคม ขอให้ตรวจสอบการขึ้นทะเบียนลูกจ้างตามนโยบายการจ้างงานชายแดนแรงงานข้ามชาติ
|
เผยแพร่วันที่ 3 เมษายน 2563
ใบแจ้งข่าว
ตัวแทนองค์กรภาคแรงงานยื่นหนังสือถึงสำนักงานประกันสังคม
ขอให้ตรวจสอบการขึ้นทะเบียนลูกจ้างตามนโยบายการจ้างงานชายแดนแรงงานข้ามชาติ
วันนี้ (3 เมษายน 2563) ตัวแทนองค์กรภาคแรงงานย้ายถิ่น ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และประกันสังคม จังหวัดตาม เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ใช้อำนาจ ตามมาตรา 80 ของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรี ได้มีมติที่ประชุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน ได้เสนอ เรื่อง การจัดระบบการจ้างคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานในลักษณะไป – กลับ หรือตามฤดูกาล ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ซึ่งต่อมาได้มีมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 บังคับใช้แทน โดยประเภทงานหรือลักษณะงานที่อนุญาตให้ทำได้นั้นถูกกำหนดให้เป็นงานกรรมกรและงานรับใช้ในบ้าน โดยรัฐบาลไทยกับประเทศต้นทาง ได้แก่เมียนมาและกัมพูชา ได้มีการลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาล ให้เพิ่มวัตถุประสงค์ของบัตรผ่านแดนที่ใช้แทนหนังสือเดินทางสำหรับขออนุญาตทำงานตามมาตรา 64 ของพรก.บริหารจัดการฯ
ในพื้นที่จังหวัดตาก มีตัวเลข จากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว ณ เดือนธันวาคม 2562 ระบุว่า มีแรงงาน จำนวน 21,440 คน ที่ขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานตามมาตรา 64 (จ้างงานชายแดน) และจากการสำรวจข้อมูลขององค์กรภาคประชาสังคมผ่านการรับเรื่องร้องเรียน พบว่า แรงงานส่วนใหญ่ เป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมรวมถึงโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าซึ่งพื้นที่จังหวัดตาก มีตัวเลขโรงงานตั้งอยู่จำนวน 723 โรงงาน เป็นโรงงานที่อยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและอนุญาตให้มีการจ้างงานชายแดนอยู่ทั้งสิ้น 479 โรงงาน หรือคิดเป็น 63% ของจำนวนโรงงานในจังหวัดตาก ซึ่งกิจการในโรงงานดังกล่าวมีลักษณะการทำงานแบบประจำ และมิได้เป็นกิจการที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำแรงงานขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม แต่ผู้ประกอบการจำนวนมากกลับจ้างแรงงานตามมาตรา 64 โดยอ้างว่าเป็นงานลักษณะชั่วคราว เพื่อหลีกเลี่ยงการขึ้นทะเบียนประกันสังคมให้กับลูกจ้าง นับว่าเป็นการจงใจละเมิดกฎหมายประกันสังคม ที่กำหนดนายจ้างซึ่งมีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปยื่นแบบรายการแสดงรายชื่อผู้ประกันตน อัตราค่าจ้างและข้อความอื่นตามแบบที่เลขาธิการกำหนด ต่อสำนักงานภายใน 30 วันนับแต่วันที่ลูกจ้างนั้นเป็นผู้ประกันตน ทั้งนี้เพื่อให้ลูกจ้างมีหลักประกันและสิทธิประโยชน์ทางสังคม 7 ประการตามกฎหมายดังกล่าว
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทำให้สถานประกอบการจำนวนมากต้องเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติ หรือหยุดประกอบกิจการชั่วคราว แต่ลูกจ้างดังกล่าวกลับไม่สามารถได้สิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมกรณีการว่างงาน หรือสิทธิประโยชน์ตามมติคณะรัฐมนตรีที่นายจ้างต้องหยุดกิจการชั่วคราวจากกองทุนประกันสังคม ได้เนื่องจากยังไม่ได้เป็นผู้ประกันตน การยื่นหนังสือในครั้งนี้นอกจากเป็นการเรียกร้องการใช้อำนาจของพนักงานของรัฐในการตรวจสอบการคุ้มครองแรงงานตามกฎหมายแล้ว ทางเครือข่ายฯเห็นว่า ยังเป็นการยืนยันหลักการสำคัญของเจตนารมณ์การคุ้มครองแรงงานทุกคนโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติที่ไทยได้ให้การรับรองไว้ในอนุสัญญาด้านแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 111 และให้แรงงานข้ามชาติที่ทำงานเป็นลูกจ้างตามมาตรา 64 แห่งพรก.บริหารจัดการฯ ที่ทำมิใช่งานตามฤดูกาล งานจรเป็นครั้งคราวหรืองานรับใช้ในบ้าน แต่เป็นงานทีมีลักษณะประจำ เช่นผลิตงานในโรงงานหรืองานบริการเป็นต้น สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในฐานะผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมด้วย
รายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ นางสาวจิรารัตน์ มูลศิริ ทนายความ ที่ 089 273 4711
นายสุชาติ ตระกูลหูทิพย์ ทนายความ ที่ 086 369 0762