ใบแจ้งข่าว: บุตรผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ จังหวัดภูเก็ต สามารถซื้อประกันสุขภาพได้ หลังจากยื่นเรื่องหารือปัญหาการซื้อประกันสุขภาพของผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ จังหวัดภูเก็ต

1 กรกฎาคม 2565

ใบแจ้งข่าว

บุตรผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ จังหวัดภูเก็ต สามารถซื้อประกันสุขภาพได้

หลังจากยื่นเรื่องหารือปัญหาการซื้อประกันสุขภาพของผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ จังหวัดภูเก็ต

 

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2565 ผู้แทนมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ประจำพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ผู้แทนศูนย์สังคมพัฒนา มูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี ประจำพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย แรงงานข้ามชาติหญิง 1 ราย ได้เดินทางไปยังศูนย์ตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าว โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เพื่อซื้อบัตรประกันสุขภาพให้กับบุตรผู้ติดตามและได้รับบัตรเรียบร้อยแล้วในวันเดียวกัน

กรณีนี้สืบเนื่องจากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้รับเรื่องร้องเรียนจากแรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมา มารดาของเด็กหญิงส. อายุ 1 ปี ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม ตนได้ ติดต่อขอซื้อบัตรประกันสุขภาพให้แก่เด็กหญิงส. จากศูนย์โรงพยาบาลวชิระ เกาะสิเหร่ แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ปฏิเสธไม่ขายบัตรประกันสุขภาพให้ โดยอ้างว่าเด็กหญิงส. ไม่ได้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง เนื่องจากมีประวัติภาวะความผิดปกติของลิ้นหัวใจ  ต่อมาทนายความของมูลนิธิฯ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจ จึงได้ทำหนังสือ ขอซื้อบัตรประกันสุขภาพเป็นลายลักษณ์อักษรถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต แต่ยังไม่ได้มีการตอบกลับมา

ทางมูลนิธิฯ มีหนังสือไปและประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ผ่านการประชุมระบบออนไลน์ อาทิ โรงพยาบาลวชิระ จังหวัดภูเก็ต สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดภูเก็ต สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ สำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อติดตามและหารือด้านกฎหมาย นโยบายการขายบัตรประกันสุขภาพและข้อเท็จจริงของคดี

จากการประชุมหารือทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงว่า มารดาของเด็กหญิงส. ได้ยื่นเอกสารเพื่อขอซื้อบัตรประกันสุขภาพให้แก่บุตร ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคมจริง แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ตรวจเอกสาร พบว่าใบอนุญาตทำงานมารดาจะหมดอายุในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2565 เจ้าหน้าที่จึงใช้ดุลพินิจปฏิเสธเพื่อให้มารดาของเด็กหญิงส. ทำการต่อใบอนุญาตทำงานก่อนจึงค่อยติดต่อซื้อบัตรประกันสุขภาพใหม่อีกครั้ง พร้อมทั้งปฏิเสธว่ามิใช่เหตุเกี่ยวข้องกับสุขภาพของเด็กแต่อย่างใด

เพ็ญพิชชา จันทร์โกมล ผู้ประสานงานของมูลนิธิฯ เห็นว่า การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ซึ่งในทางปฏิบัตินับเป็นการใช้อำนาจทางการปกครอง ด้านการอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติ ที่มีเอกสารอนุญาตให้ทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรอย่างถูกต้อง สามารถเข้าถึงสิทธิในการซื้อบัตรประกันสุขภาพให้กับผู้ติดตาม ตามข้อที่ 7.3 ของมาตรการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2562 ได้

จากกรณีการปฎิเสธการเข้าถึงการซื้อประกันสุขภาพของผู้ติดตาม กรณีของเด็กหญิง ส. พบว่า สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตได้กำหนดเงื่อนไขของการขึ้นทะเบียนประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาติอย่างคร่าว ๆ ว่าจะต้องไม่เป็นผู้มีความเสี่ยงทางสุขภาพ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าสมควรขายบัตรประกันสุขภาพให้หรือไม่เป็นรายบุคคล แต่โดยหลักแล้วจะขายให้เฉพาะกับแรงงานที่พร้อมทำงานเท่านั้น ซึ่งมีปัญหาว่าการนำหลักเกณฑ์เดียวกันซึ่งมิได้มีความชัดเจนมากพอนี้มาปรับใช้กับบุตรหรือผู้ติดตามของแรงงานข้ามชาติในการพิจารณาขายบัตรประกันสุขภาพนั้นอาจไม่ได้มีความเหมาะสม แต่เป็นการตัดสิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการด้านสุขภาพขั้นพื้นฐานของบุตรและผู้ติดตามของแรงงานข้ามชาติ

เพ็ญพิชชา มีข้อสังเกตว่า ระเบียบการขึ้นทะเบียนประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ กรณีบุตรของแรงงานข้ามชาติในปัจจุบันนั้น มักจะถูกยึดโยงกับเอกสารส่วนบุคคลของบิดาและมารดา ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการขึ้นทะเบียนประกันสุขภาพของเด็ก เช่น กรณีของเด็กหญิง ส. พบว่าถูกปฏิเสธในการเข้าถึงการซื้อบัตรประกันสุขภาพจากข้อเท็จจริงที่ว่าบัตรอนุญาตทำงานของมารดามีอายุเหลือเพียง 2 เดือน ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงควรปรับเปลี่ยน แก้ไข มาตรการด้านเอกสารในการขึ้นทะเบียนประกันสุขภาพเพื่อประกันว่า บุตรผู้ติดตามสามารถเข้าถึงการซื้อและการรับบริการด้านสาธารณสุข อันเป็นการสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 47 ประกอบกับนโยบายด้านการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม ตามคำมั่นของผู้นำรัฐบาลว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และหลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ประเทศไทย เป็นรัฐภาคี


 

รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา สำนักงานจังหวัดภูเก็ต 087-4230999