แรงงานข้ามชาติที่(ไม่)ถูกมองเห็นในเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด

“วันงานที่มีคุณค่าสากล ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และแรงงานข้ามชาติร่วมกันถอดบทเรียนสภาพปัญหาการจ้างงานที่ละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด โดยนักวิชาการเสนอกลไกการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำการยกระดับชีวิตคนทำงานตลอดห่วงโซ่การผลิตให้มีคุณค่าและดีขึ้นในทุกภาคส่วน”

 

วันที่ 22 ตุลาคม 2566 เวลา 13.30 -15.00 น. ณ โรงแรมควีนพาเลส (Queen Palace Hotel) อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก MAP Foundation และองค์กรภาคีที่ทำงานในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ประกอบด้วยมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)  Arakan Workers Organization และ ยองชิอู ได้จัดงาน “วันงานที่มีคุณค่า” และจัดวงเสวนา “คุณค่าของคนทำงานในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษแม่สอด” เพื่อเป็นการรณรงค์เรื่องการจ้างงานที่ดีและมั่นคง โดยขบวนการการแรงงานสากลเชื่อว่าเป้าหมายของการขับเคลื่อนความต้องการส่งเสริมให้ผู้คนเข้าใจถึงเรื่องงานที่มีคุณค่าจะยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานและส่งเสริมให้มีการพัฒนาแรงงาน ซึ่งในงานวันนี้ได้มีการแสดงกิจกรรมละครสะท้อนปัญหาของแรงงานข้ามชาติในพื้นที่แม่สอด มุมมองชีวิตชาวเมียนมากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่มาอยู่ในประเทศไทย เรารู้จักพวกเขาจริงหรือ เรื่อง Can you sing the national anthem? โดย คณะละครขับเคลื่อนสังคม มาร็องดู Malongdu Theatre, การแสดงจากกลุ่มคนงานยะไข่  โดย Arakan Workers Organization และ การแสดงจากกลุ่มเยาวชนบุตรหลานแรงงานข้ามชาติ การแสดง U Shwe Yoe Daw Moe และ Na Pan San   โดย ศูนย์การเรียนรู้ อะยอนอู

 25102023_01

“สิ่งที่ต่อสู้นั้นแรงงานข้ามชาติลำบากแค่ไหน ถ้าไม่พบด้วยตัวเองก็จะไม่มีความรู้สึกที่ลึกซึ้งได้ แรงงานหลายคนต่อสู้เพื่อชีวิต เราเข้ามาอยู่ในประเทศไทย เราไม่รู้กฎหมายหรือนโยบายการเมืองต่างๆเราจึงต้องไปหาคนที่ช่วยเหลือในการเรียกร้องสิทธิ แต่ตัวพวกเราแรงงานข้ามชาติเองพร้อมกันหรือไม่ สามัคคีกันหรือเปล่าที่จะสู้เพื่อสิทธิตนเอง”  พิว พิว ม่า กล่าว

 

พิว พิว ม่า ผู้แทนจากกลุ่มคนงานข้ามชาติในพื้นที่แม่สอด สะท้อนปัญหาในฐานะอดีตลูกจ้างแรงงานข้ามชาติในโรงงานทอผ้าที่ดำเนินการเป็นผู้ฟ้องคดีต่อศาลต่างประเทศ กรณีที่โรงงานละเมิดสิทธิแรงงานในลักษณะแรงงานบังคับ กล่าวคือ มีการยึดเอกสารประจำตัวของแรงงาน โกงค่าแรง จ้างงานเกินเวลา ทำงานตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึง 22.00 น. ไม่มีวันหยุดที่เพียงพอ และให้ค่าตอบแทนที่ต่ำกว่ากฎหมายบังคับ รวมไปถึงเรื่องสัญญาการจ้างงานที่ไม่ถูกต้อง พิว พิว ม่า ต้องการสะท้อนปัญหาในฐานะที่ตนเองลุกขึ้นมาฟ้องร้องคดีเจ้าของโรงงาน ซึ่งหลังจากนั้นก็ถูกให้ออกจากงาน และยังมีการรังแกจากนายจ้างไม่ว่าจะถูกเอารูปของตนไปติดหน้าโรงงานทั่วพื้นที่แม่สอด ถูกลดค่าแรงเหลือ 2,500 บาท/เดือน ชีวิตที่ลำบากอย่างมากของแรงงานข้ามชาติเมื่อลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ ได้สร้างผลกระทบต่อตนเองและครอบครัวอย่างรุนแรง สภาพความเป็นอยู่ปัจจุบันของตนในฐานะแกนนำแรงงาน คือ การถูกปฏิเสธจากนายจ้างจากโรงงานทั่วแม่สอด และนายจ้างทำให้เห็นว่าคนที่ลุกขึ้นสู้จะถูกปฏิบัติอย่างเลวร้ายอย่างไร เช่น ถ้ามีคนงาน 200 คนในโรงงาน แล้วคนงานจำนวน 150 คน รวมตัวกันลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิ คนงานที่ไม่ลุกขึ้นมาเรียกร้อง 50 คน นายจ้างจะให้เงินเดือนเพิ่มขึ้น ในขณะที่คนงาน 150 คน ที่เรียกร้องสิทธิจะไม่ถูกต่อสัญญาและไล่ออกจากงาน

251023-02
ภาพบรรยากาศของแรงงานข้ามชาติ ที่เดินทางมาทำงานแต่โรงงานประกาศปิดกิจการในพื้นที่แม่สอด

ชฤทธิ์  มีสิทธิ์ ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน กล่าวว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิของแรงงานในพื้นที่แม่สอด ตลอด 20 ปีที่ตนทำงาน ปัญหาที่เกิดขึ้นแทบไม่แตกต่างจากเดิม ในฐานะที่ตนเป็นทนายความที่ทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนในด้านคดีในพื้นที่แม่สอด ได้แก่ MAP และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)  การทำงานให้ความช่วยเหลือด้านคดีมนุษยธรรม ตนพบว่าคดีเชิงยุทธศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื่องจ้างงานเหมาชิ้นงานไม่ได้ประกันตามค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้เกิดการกดค่าแรงอย่างมากในกลุ่มแรงงานในโรงงานสิ่งทอ และคุณลักษณะพิเศษของพื้นที่แม่สอด คือ ปัญหาการจ้างงานชายแดน หรือ ประเด็นกฎหมาย มาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว ที่นายจ้างนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ ทำให้นายจ้างใช้ช่องว่างของกฎหมายที่ไม่ต้องนำลูกจ้างเข้าสิทธิประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน หรือที่นักรณรงค์เรื่องแรงงานมักกล่าวว่า ‘ม.64 จ้างงานชั่วคราว ทำงานชั่วโคตร’

นอกจากนี้ กรณีคดีโด่งดังระดับโลกที่เกิดขึ้นในปี 2565 ที่โรงงาน VK GARMENT เป็นจำเลยในคดีนี้ โดยมีอดีตลูกจ้างแรงงานข้ามชาติในโรงงาน 136 คน เป็นโจทก์ฟ้องคดี โดยฟ้องบริษัทเจ้าของแบรนด์ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) , บริษัทผู้ตรวจสอบโรงงานผู้ผลิต และเจ้าของโรงงานผู้ผลิตสินค้า ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน คดีนี้มีความน่าสนใจอย่างยิ่งในฐานะที่การฟ้องคดีไม่ได้ฟ้องเพียงเจ้าของโรงงานผู้ผลิต แต่ฟ้องไปถึงบริษัทเจ้าของแบรนที่ว่าจ้างโรงงานให้ผลิตสินค้านั้น และฝ่ายตรวจสอบผู้เขียนรายงานให้ผู้ว่าจ้างอีกด้วย คดีนี้จึงเป็นตัวสะท้อนสำคัญที่ทำให้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติมีความกล้าหาญ ซึ่งแม้การฟ้องคดีจะได้สร้างผลกระทบต่อตัวพวกเขาเอง ทำให้แรงงานข้ามชาติประสบชีวิตที่ยากลำบากมากขึ้นจากการถูกเพิกเฉยในกระบวนการต่อสู้ทางกฎหมาย แต่พวกเขาก็สู้ไม่ถอย ดังนั้น การแก้ปัญหาเรื่องสิทธิแรงงานการส่งเสริมการรวมกลุ่มของแรงงานจึงสำคัญ การต่อสู้โดยลำพังของแรงงานทำให้เกิดผลกระทบระยะยาวต่อตัวแรงงานและขบวนการเรียกร้องสิทธิของทุกคน ฉะนั้นเราจึงต้องตระหนักถึงสิทธิของตนและไม่ยอมให้ตนถูกละเมิดสิทธิ นี่คือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อน

 

“อย่างแม่สอดการที่แรงงานบังคับยังเกิดขึ้นอยู่ ส่วนหนึ่งเพราะแรงงานข้ามชาติยอมรับการขูดรีด การถูกละเมิด เพราะกลัวว่าต้องถูกเลิกจ้างแล้วต้องกลับประเทศพม่า ผมไม่ได้โทษแรงงาน แต่สถานการณ์แบบนี้นายทุนเขารู้ดี นายทุนบางส่วนคิดว่าไม่ต้องจ่ายค่าแรงขั้นต่ำที่แม่สอดแรงงานที่นี่ก็ยอมรับได้ ฉะนั้นใครอยากได้กำไรมากๆไปทำธุรกิจที่แม่สอดสิ กฎหมายขั้นต่ำ 310 บาท/วัน แต่นายจ้างจ่ายเพียง 160-170 บาท/วัน แรงงานก็ยอมทำ…ผมมองว่าถ้าตราบใดที่แรงงานยอมรับ ไม่สู้ หรือไม่เรียกร้อง ก็จะเกิดปัญหาแบบนี้ต่อไป แต่เมื่อไหร่ที่แรงงานรวมตัวเรียกร้อง โต้แย้ง โวยวาย เมื่อเกิดความไม่เป็นธรรมหรือรวมตัวกันเพื่อปรับปรุงสภาพการจ้างงาน พวกเขาก็จะถูกตอบโต้เชิงคดีมากมาย และอีกหลายรูปแบบตามมาเช่นกัน”  ชฤทธิ์  กล่าว

รัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก เขต 2  กล่าวว่า นโยบายการคุ้มครองแรงงานของพรรคก้าวไกลค่อนข้างโดดเด่นกว่าพรรคอื่น แต่ในประเด็นเรื่องสิทธิแรงงานข้ามชาติอาจยังไม่ครอบคลุมถึงมากนัก ปัจจุบันจึงมีแนวทางที่จะพัฒนารวมไปถึงการทำนโยบายตั้งคณะทำงานอนุกรรมการแรงงานเพื่อที่จะศึกษาปัญหาการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ เริ่มต้นตั้งแต่เรื่องการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ที่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงเกินจริงซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงาน วันงานที่มีคุณค่านี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะมารับฟัง และจะนำเรื่องที่แลกเปลี่ยนไปแก้ไขปัญหาเรื่องการจ้างงานที่เป็นธรรม ซึ่งประกอบด้วย 1.ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม 2.สภาพการทำงานที่เป็นธรรม 3.สัญญาที่เป็นธรรม  4.การบริหารจัดการที่เป็นธรรม และ 5.ระบบตัวแทนที่เป็นธรรม

“ผมในฐานะนักการเมืองท้องถิ่น นักการเมืองที่อยู่ในพื้นที่แม่สอด ผมเข้าใจบริบททั้งนโยบายและพี่น้องผู้ใช้แรงงาน การที่เราได้รับฟังในหลายมิติเราจึงมีทิศทางว่าเราต้องปรับทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานชายแดนให้เป็นไปตามกลุ่มเป้าหมาย อย่างเช่น มาตรา 64 การจ้างงานชายแดน ตัวกฎหมายนั้นดีมากหากใช้ให้ถูก เช่น พี่น้องเกษตรกรที่ทำงานตามฤดูกาล แต่ช่องว่างของกฎหมายทำให้กระทบต่อสิทธิของแรงงาน” รัชต์พงศ์ กล่าว

รวีพร ดอกไม้ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) กล่าวถึง บริบทพื้นที่แม่สอด ที่มีลัษณะเป็นพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเมียนมา ทำให้พื้นที่นี้มีความซับซ้อนในหลายประเด็น ทั้งเรื่องกองกำลัง การค้าชายแดน กลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานข้ามชาติ และผู้ลี้ภัย  ซึ่งถือว่าพื้นที่นี้เป็นจุดที่มีความสำคัญของประเทศไทย ทั้งด้านภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจที่ติดกับประเทศพม่า ทำให้ดึงดูดแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่ประสบปัญหาในประเทศเมียนมาทำงานในแม่สอดอย่างช้านาน

251023-03
แรงงานข้ามชาติ ออกมาเรียกร้องต่อกรณีบังคับแรงงาน คดีฟ้องร้องโรงงาน 
VK GARMENT แม่สอด

นอกจากนี้ รวีพร ได้ยกกรณีข่าวดังระดับโลกประเด็นแรงงานข้ามชาติที่เกิดขึ้นในแม่สอด โดยระบุว่า เมื่อปี 2562 มีการรายงานข่าว โดยสำนักข่าวมูลนิธิทอมสัน รอยเตอร์ ถึงการละเมิดคนงานในเรื่องค่าจ้างค่าแรง การไม่จ่ายค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้กับลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติของโรงงานในพื้นที่อำเภอแม่สอดที่มีการผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ดังต่างประเทศที่มีสาขาทั่วโลก ซึ่งการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมร่วมกับแรงงาน จนทำให้หน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการแรงงานปฏิบัติการ พนักงานตรวจแรงงาน มีคำสั่ง ให้นายจ้าง จ่ายค่าจ้าง โดยให้มีการจ่ายค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณี ค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ ค่าล่วงเวลาในวันทำงาน ค่าชดเชย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินทั้งสิ้น 3,483,099.14 บาท ให้กับแรงงานจำนวน 26 คน และนายจ้างจ่ายค่าชดเชย 1,039,365.08 บาท  บริษัทแบรนด์ดังระดับโลกร่วมจ่าย รายละ 600,000 บาท รวม 1,800,000 บาท  และยังมีแบรนด์ดังอื่นที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่นี้ต้องจ่ายส่วนที่เหลือ 600,000 บาท นอกจากนี้ยังมีกรณี ปี 2565  มีการรายงานข่าว โดยสำนักข่าว The Guardian กรณี  แรงงาน 136 คน โรงงาน VK Garment ว่ามีลักษณะการจ้างงานเข้าข้อบ่งชี้การใช้แรงงานบังคับ (ILO) ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่แม่สอดเป็นพื้นที่หนึ่งของการลงทุนธุรกิจเพื่อลดต้นทุนด้านมูลค่าแรงงาน เพราะพื้นที่มีช่องว่างให้สามารถกดแรงงานได้หลายมิติ ดังปัญหาที่เกิดขึ้น

“พื้นที่แม่สอดมีโรงงานอุตสาหกรรมมากถึง 500-600 แห่ง มีโรงงานทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ แต่ขณะเดียวกัน เราพบว่ามีความเกี่ยวพันกับห่วงโซ่กับ big brand ทั่วโลกที่ส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชน หลายข่าวที่พบพื้นที่ตรงนี้ถูกสร้างนิยามว่าเป็น black hole and exploitation ละเมิดสิทธิแรงงานอย่างรุนแรง เขตเศรษฐกิจพิเศษตรงนี้ควรเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อส่งเสริมด้านจริยธรรมทางการค้า ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน แต่ตอนนี้เป็นเครื่องมือหนึ่งรึเปล่าที่จะทำให้เกิดการละเมิดสิทธิ เพราะพยายามหลีกเลี่ยงกฎหมาย หรือมาตรฐานขั้นต่ำที่แรงงานควรได้รับ” รวีพร กล่าว

สารคดี Hidden Cost of Cloth : เผยชีวิตคนงานสิ่งทอผู้ถูกกดทับในระบบห่วงโซ่ธุรกิจข้ามชาติในพื้นที่แม่สอด

251023-04

 

วรรณา แต้มทอง ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไท  ได้ฉายวีดีทัศน์ Hidden Cost of Clothes โดยงานชิ้นนี้ต้องการสะท้อนมุมมองของแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในโรงงานสิ่งทอในโรงงาน ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งจากการลงพื้นที่จึงพบว่ามีแรงงานข้ามชาติที่ทำงานเย็บผ้าในโรงงานได้รับการละเมิดสิทธิ ซึ่งภาพนี้หากคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่แม่สอดคงคิดไม่ออกว่า สิ่งที่แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญกับการขูดรีดเป็นอย่างไร วีดีทัศน์ชิ้นนี้จึงเดินทางไปกับแกนนำแรงงานที่เป็นอดีตลูกจ้างโรงงาน  VK GARMENT ที่เห็นถึงการจ้างงานที่มีปัญหา ซึ่งคำถามที่เกิดขึ้นต่อวรรณา คือ แรงงานข้ามชาติในโรงงานเย็บผ้ามีความเจ็บปวดอะไร และงานชิ้นนี้ก็สะท้อนความนึกคิดและความรู้สึกของแรงงาน มูลค่าส่วนอื่นที่แฝงอยู่ภายใต้เสื้อผ้าที่ผู้คนทั่วไปหาซื้อสวมใส่ตามท้องตลาด ความเจ็บปวดความทุกข์ยาก การเข้าสู่ภาวะจำยอม ที่อยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย แออัด และการเข้าถึงอาหารที่ดีมีสุขอนามัย ภาพเบื้องหลังความสวยงามของธุรกิจที่สร้างมูลค่าทางอุตสาหกรรมแฟชั่นที่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย กลับมีแรงงานในโรงงานเหล่านี้ที่ถูกกดมูลค่าให้ต่ำกว่ามาตรฐานที่มนุษยควรได้รับ

HRDD เครื่องมือสำคัญของภาคประชาชนเพื่อติดตามภาคธุรกิจให้คุ้มครองสิทธิแรงงานและสิ่งแวดล้อม

“งานที่มีคุณค่าจะมีความหมายสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กลไกการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) เครื่องมือของภาคประสังคมเพื่อการยกระดับคนทำงานในภาคธุรกิจทั้งห่วงโซ่” สฤณี กล่าว

 

สฤณี อาชวานันทกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริหาร บริษัท ป่าสาละ จำกัด ได้บรรยายถึงกระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) ในภาคธุรกิจแนวโน้ม องค์ประกอบ และวิธีใช้งานสำหรับภาคประชาสังคม ซึ่งยกตัวอย่างกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจต่อแรงงานในประเทศไทยที่สำคัญ และความตื่นตัวเรื่องประเด็นสิทฺธิมนุษยชนของภาคธุรกิจที่มีมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยยกข่าวอุตสาหกรรมประมงและทะเลที่มีกรณีเกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ามนุษย์ มีการละเมิดสิทธิแรงงานที่รุนแรง การค้าทาสสมัยใหม่ ซึ่งสร้างผลกระทบต่อธุรกิจโดยตรง ทำให้ไม่สามารถส่งผลผลิตออกไปยังประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐอมเริกา และหลายประเทศในทวีปยุโรป ที่ใช้วิธีการการแบนหรือระงับการซื้อสินค้ากับประเทศไทยชั่วคราวเมื่อเกิดข้อเท็จจริงปรากฎขึ้นว่ามีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นในห่วงโซ่ธุรกิจ

นอกจากนี้ สฤณี ได้กล่าวถึงอีกคดีที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานในประเทศไทย โดยยกกรณีโรงงาน VK GARMENT  โดยอดีตลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติลุกขึ้นมาฟ้องการละเมิดสิทธิของนายจ้าง และฟ้องไปถึงเจ้าของแบรนด์ ในระบบ Supply Chain และฟ้องบริษัทตรวจสอบ (Audit) ต่อศาลไทยและศาลอังกฤษ คดีนี้จึงสะท้อนภาพการรับผิดชอบในระบบห่วงโซ่ธุรกิจที่ไม่เพียงแต่โรงงานในพื้นที่ที่จ้างแรงงานเท่านั้น แต่เชื่อมไปถึงบริษัทต้นทางที่สั่งจ้างงาน และการที่ผู้ตรวจสอบไม่ไปตรวจสภาพการทำงานภายในโรงงานว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

25102023_0525102023_06

VK GARMENT เป็นตัวอย่างที่ดีในการฟ้องคดี ที่ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องตระหนักว่าการที่เขาต้องการดูแลแรงงาน ทำตามมาตรฐานแรงงาน และจ้างบริษัท audit ให้มาตรรวจสอบ แล้ววางใจในรายงานเองอาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป บริษัทรับจ้างชิ้นงานเองก็จะมีความเสี่ยงที่จะตกเป็นผู้ถูกฟ้องเหมือนกัน พูดง่ายๆว่า ทิศทางข้างหน้าบริษัทต้องตามไปดูว่าบริษัทตรวจสอบทำงานได้น่าเชื่อถือแค่ไหน ไปค้นพบสภาพการทำงานของแรงงานจริงๆหรือเปล่า..คดีนี้จึงถือเป็นความก้าวหน้าและลูกจ้างที่กล้าลุกขึ้นมาฟ้องร้อง” สฤณี กล่าว

 

สฤณี กล่าวต่อว่า เมื่อก่อนเราเข้าใจว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิของมนุษย์เท่านั้น แต่ปัจจุบันประเด็นที่เราคิดว่าไม่เกี่ยวข้องกันก็มีเรื่องการคิดเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนรวมด้วย เช่น ปัญหาภาวะโลกร้อน (Climate Change) ก็มีความเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ เพราะมีผลงานศึกษารองรับแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นการกระทำจากน้ำมือมนุษย์ อย่างกรณีตัวอย่าง ประเทศฟิลิปปินส์ภาคประชาชน มีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประเทศฟิลิปปินส์ให้สอบสวนบริษัทพลังงานขนาดใหญ่หลายแห่งในโลกที่ปล่อยคาร์บอนส่งผลกระทบให้ชุมชนได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง สิ่งที่ภาคธุรกิจทำกระทบกับสิทธิในชีวิตและสิ่งแวดล้อม  ธุรกิจดังกล่าวจึงถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการสำคัญที่สร้างภาวะโลกร้อน และสร้างผลกระทบต่อชีวิต สุขภาพ ประชาชน บริษัทจึงต้องมีความรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว

251023-07

UNGP: จากหลักการชี้แนะสู่ “กฎหมาย”

ความเห็นของ สฤณี ต่อประเด็นเรื่องนี้จึงมองว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้ภาคธุรกิจต่างๆเข้ามารับผิดชอบ เพราะห่วงโซ่อุปทานนั้นมีความซับซ้อน ดังนั้นการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิต้องสนใจตั้งแต่ต้นน้ำ ต้องมีข้อมูลตัวห่วงโซ่อุปทาน และมีการตรวจสอบย้อนกลับ  เพื่อเห็นถึง โบรกเกอร์ นายหน้า ทั้งหมดใน supply chain ของแต่ละธุรกิจ เช่น ประมง พลังงาน โดยไบเบิลหรือหลักของธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่เริ่มมีการเสนอออกมานับตั้งแต่ปี  2011 /2554 : UN Guiding Principles on Business and Human Rights ซึ่งจะเห็นพัฒนาการจากที่เป็นมาตรฐานสมัครใจให้ภาคธุรกิจควรปฏิบัติ จนปัจจุบันเริ่มเป็นหลักของกฎหมายบังคับให้ธุรกิจต้องเคารพสิทธิมนุษยชน อย่างรูปธรรมชัดเจนที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เมื่อประเทศเยอรมันได้ออกกฎหมาย เยอรมนี – ออกกฎหมาย Supply Chain Due Diligence Act ในปี 2021 โดยมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม ค.ศ. 2023 สำหรับบริษัทในเยอรมนีที่มีพนักงานอย่างน้อย 3,000 คน และ 1 มกราคม ค.ศ. 2024 สำหรับบริษัทในเยอรมนีที่มีพนักงานอย่างน้อย 1,000 คน โดยบริษัทต้องใช้ความพยายามอย่างสมเหตุสมผล (reasonable efforts) เพื่อสร้างหลักประกันว่าไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการดำเนินธุรกิจของตัวเอง และในห่วงโซ่อุปทาน และต้องเปิดเผยผลการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนประจำปีต่อสาธารณะ ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมีสิทธิฟ้องศาลเยอรมัน ผ่านสหภาพแรงงานและเอ็นจีโอ และร้องเรียนต่อ Federal Office of Economics and Export Control (BAFA) โดยโทษสูงสุดของการละเมิดสิทธิขั้นรุนแรง คือ ค่าปรับ 8 ล้านยูโร หรือ 2% รายได้ประจำปีถ้ามีรายได้มากกว่า 400 ล้านยูโรต่อปี และถูกระงับการเป็นคู่ค้าของรัฐ 3 ปี นอกจากนี้ใน เมื่อ กุมภาพันธ์ 2022 สหภาพยุโรปได้ร่าง Corporate Sustainability Due Diligence Directive สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ (เริ่มปี 2025) และขนาดกลาง (เริ่มปี 2027) ที่ทำธุรกิจในอุตสาหกรรมความเสี่ยงสูง กรรมการบริษัทมี “หน้าที่” ต้องบูรณาการการตรวจสอบรอบด้าน ด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม เข้าไปในนโยบาย ออกมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบเชิงลบ และเปิดเผยผลการตรวจสอบ

“เรามองว่าอย่างน้อยที่สุดกลไกการตรวจสอบรอบด้านเรื่องสิทธิมนุษยชนน่าจะเป็นโอกาส หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือของคนที่ทำงานสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชน ใน 3 ลักษณะใหญ่ๆ เรื่องการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ การมีส่วนร่วมในการออกแบบยกระดับกลไกภาคธุรกิจ และรวมถึงนโยบายของภาครัฐ” สฤณี กล่าว

 

สฤณี กล่าวว่า 3 เรื่องหลัก ที่จะเป็นโอกาสของภาคประชาสังคมที่จะมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจ หลักการชี้แนะของ Human Rights Due Diligence (HRDD) เน้นย้ำว่าให้หารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้ฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มากที่สุด ดังนั้น เรื่องแรก คือ คนทำงานหรือองค์กรสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน กลุ่มเหล่านี้มีข้อมูลเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่แล้วสามารถเอาข้อมูลไปคุยบริษัทเหล่านี้ได้ ซึ่งเป็นบริษัทที่เริ่มประกาศนโยบายสิทธิมนุษยชนและเขาต้องทำตามแนวทางชี้แนะ ซึ่งก็คือกระบวนการตรวจสอบ ยกตัวอย่าง หากมีบริษัทหนึ่งเขาประกาศนโยบายสิทธิมนุษยชนและให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิแรงงานข้ามชาติ แต่ถ้าองค์กรภาคประชาสังคมมีข้อมูลในพื้นที่ มีข้อมูลโรงงานที่มีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคมสามารถเข้าไปพูดคุยโดยอ้างการประกาศนโยบายของบริษัทดังกล่าว สิ่งนี้สามารถทำให้เกิดการตรวจสอบ และสามารถเข้าไปอ่านรานงานประเด็นความเสี่ยงเรื่องสิทธิมนุษยชนของบริษัทแต่เทียบกับข้อมูลที่ภาคประชาชนมีว่าตรงกันหรือไม่ ต่อมาคือเรื่อง ประเด็นของการสุ่มเสี่ยงของภาคประชาสังคมในการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เราสามารถให้ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะ อยากให้อาศัยความเชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอกองค์กร ส่วนนี้เองบริษัทสามารถดึงภาคประชาสังคมไปช่วยให้ข้อมูลหรือมีส่วนร่วม เช่น ช่วยออกแบบกลไกการรับเรื่องร้องเรียนเมื่อถูกละเมิดสิทธิ รวมถึงการกำหนดธรรมเนียมปฏิบัติที่ดี (best practices) ที่ภาคธุรกิจควรจะเป็น เช่น การดูแลแรงงานข้ามชาติที่เป็นธรรม จริยธรรมการจ้างแรงงาน

สุดท้าย เรื่องการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (HRDD) เริ่มเป็นประเด็นที่เข้าไปอยู่ในนโยบายของรัฐบาล เช่น ตัวแผนปฏิบัติการว่าด้วยเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของไทย มีเจ้าภาพคือ กระทรวงยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ปัจจุบันมีร่างที่ 2 ออกมา ซึ่งหลายคนมองว่ายังไม่มีความชัดเจน ไม่มีมาตรการเชิงบังคับแต่ส่วนนี้เป็นโอกาสที่ภาคประชาสังคมจะเข้าไปเสนอแนะเชิงนโยบายได้ว่าจะยกระดับเรื่องนี้อย่างไร และแนวโน้มในอนาคตว่าธุรกิจไทยหลายธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากกฎหมายต่างประเทศ เช่น กฎหมายของประเทศเยอรมัน กฎหมายของสหภาพยุโรปที่ออกมารวมถึงกฎหมายประเทศอื่นๆที่จะบังคับบริษัทใหญ่ๆทั่วโลก ประเทศไทยจะมีท่าทีอย่างไร หรือถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรออกกฎหมายเพื่อบังคับให้มีการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนรอบด้านต่อบริษัทใหญ่ๆ