ลูกจ้างโรงงานผลิตเสื้อผ้า VK GARMENT อ.แม่สอด จ.ตาก 136 คน เดินหน้าขออนุญาตฎีกาชี้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษยังคลาดเคลื่อนต่อหลักกฎหมาย

ศิริรุ่ง ศรีสิทธิพิศาลภพ

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)

จากกรณีที่ ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า จำนวน 136 คน  โดยความช่วยเหลือด้านกฎหมายของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) และมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP FOUDATION) ได้ยื่นฟ้องบริษัทนายจ้าง เจ้าของโรงงานผลิตเสื้อผ้า VK GARMENT อ.แม่สอด จ.ตาก ต่อศาลแรงงานภาค 6 (ศาลชั้นต้น) เพื่อให้บริษัทนายจ้างจ่ายเงินค่าชดเชยที่ถูกเลิกจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และอื่นๆ ซึ่งศาลแรงงานภาค 6 ได้มีคำพิพากษา ให้นายจ้างจ่ายเพียงค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ส่วนคำขออื่นๆ พิพากษายกฟ้อง (คดีหมายเลขแดงที่ ร 1030/2565 ) ลูกจ้างจึงได้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 ศาลอุทธรณ์ฯ มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นนั้น

การเรียกร้องของอดีตลูกจ้างโรงงานแรงงานข้ามชาติ ต่อกรณีโรงงาน VK GARMENT อ.แม่สอด จ.ตาก

การเรียกร้องของอดีตลูกจ้างโรงงานแรงงานข้ามชาติ ต่อกรณีโรงงาน VK GARMENT อ.แม่สอด จ.ตาก

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 ลูกจ้าง ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาพร้อมกับยื่นฎีกา เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ฯ ที่วินิจฉัยว่ากระบวนการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตาก สาขาแม่สอด ในกรณีละเมิดสิทธิแรงงานดังกล่าวนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว โดยลูกจ้างแรงงานข้ามชาติมีความเห็นว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลอุทธรณ์ฯ ยังคลาดเคลื่อนต่อหลักของความยุติธรรมและกฎหมายในหลายประเด็น ทั้งเรื่องกระบวนการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานและกระบวนการไต่สวนคดีของศาลแรงงานภาค 6  (ศาลชั้นต้น) และกรณีไม่รับวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของลูกจ้างอีก 4 ประเด็น โดยศาลอุทธรณ์ฯ วินิจฉัยว่ามิใช่เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายที่ลูกจ้างสามารถอุทธรณ์ได้

ชฤทธิ์ มีสิทธิ์ ทนายความของลูกจ้าง กล่าวว่า ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของลูกจ้างแรงงานข้ามชาติ 136 คนเพียงข้อเดียว คือ กระบวนการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานชอบด้วยระเบียบการสอบสวนและพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541หรือไม่?  โดยศาลได้ตัดสินว่าพนักงานตรวจแรงงาน แม่สอด ดำเนินการชอบด้วยกฎหมายแล้วในการตรวจสอบคำร้องของลูกจ้างที่ถูกละเมิดสิทธิแรงงาน ซึ่งในการอุทธรณ์นั้นยังมีอีก 4 ประเด็นที่เป็น ข้อกฎหมายสำคัญในคดีที่ศาลไม่รับพิจารณาวินิจฉัย โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่าสิ่งที่ลูกจ้าง 136 ค อุทธรณ์มานั้นไม่ใช่ข้อกฎหมาย แต่เป็นการโต้แย้งหรือโต้เถียงการรับฟังพยานหลักฐานของศาลที่เป็นเรื่องข้อเท็จจริง  และในคดีแรงงานนั้นกฎหมายห้ามไม่ให้ฝ่ายใดอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง       

ภาพบรรยากาศของคนงานที่เดินทางมาทำงานตามปกติ แต่โรงงาน VK GARMENT ได้ประกาศปิดกิจการ

ประเด็นสำคัญที่ลูกจ้าง 136 คน ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ จึงขออนุญาตฎีกา ได้แก่

  1. การจ่ายค่าจ้างของ บริษัท วีเค การ์เม้นท์ จำกัด ที่ศาลแรงงานภาค 6 วินิจฉัยเป็นเอกสารการจ่ายค่าจ้างรายชิ้นนั้น มีความถูกต้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 114 หรือไม่?
  2. ฝ่ายลูกจ้างแรงงานข้ามชาติได้ขอให้ศาลแรงงานภาค 6 มีคำสั่งเรียกต้นฉบับเอกสารการจ่ายค่าจ้าง แต่ฝ่ายนายจ้างมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยมิได้แสดงเหตุผล แต่ในการสืบพยานฝ่ายนายจ้างกลับนำสืบสำเนาเอกสารการจ่ายค่าจ้าง ซึ่งตามหลักกฎหมายถือว่าพยานดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและศาลต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ฝ่ายลูกจ้างนำสืบ ประเด็นอุทธรณ์ข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 123 มิใช่ปัญหาข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ฯวินิจฉัย
  3. คลิปเสียงการสนทนาระหว่างฝ่ายนายจ้างกับแกนนำลูกจ้างแรงงานระบุชัดเจนว่าไม่มีการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่แรกเข้าทำงานเพราะตกลงกันแล้ว แต่ศาลแรงงานภาค 6 รับฟังและวินิจฉัยว่า แม้จะมีการจ่ายค่าจ้างไม่ครบตามขั้นต่ำ แต่เป็นช่วงเวลาใกล้จะเลิกจ้างแล้ว จึงเป็นการรับฟังและวินิจฉัยที่ขัดกับพยานหลักฐานในสำนวนคดี เป็นต้น
  4. ศาลแรงงานภาค 6 ได้ระบุว่า แม้จะฟังว่านายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างขั้นต่ำให้ลูกจ้าง ที่บอกว่าเป็นช่วงใกล้ๆเลิกจ้างเท่านั้น แต่กลับวินิจฉัยต่ออีกว่า ถ้าไม่ครบจริง ลูกจ้างก็ควรจะต้องโต้แย้งคัดค้านไว้ เพราะเมื่อไม่โต้แย้งและคัดค้านไว้ ก็ต้องรับฟังไว้ว่าจ่ายครบแล้ว
  5. ในกระบวนการยุติธรรมลูกจ้าง136 คน ซึ่งเป็นคนงานข้ามชาติได้เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยเนื่องจากความยากจน รายได้ที่ประเทศพม่าไม่พอกินรวมทั้งหนีภัยสงครามในประเทศ เมื่อมาทำงานที่อำเภอแม่สอดก็ มีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ไม่ได้มีความชำนาญภาษาไทย และไม่รู้กฎหมายไทย ฉะนั้น ประกอบกับในการมาทำงานที่แม่สอดก็ต้องมีภาระหนี้สินเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ทั้งฝั่งพม่าและฝั่งไทย ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติจึงตกอยู่ในภาวะหวาดกลัว วิตกกังวล อยู่ในภาวะจำยอมเพื่อให้ได้มีงานทำที่ประเทศไทย จึงไร้อำนาจต่อรอง ในสภาพการณ์ดังกล่าวนี้ ฝ่ายแรงงานข้ามชาติอยากให้ศาลแรงงานได้เข้าใจสภาพส่วนนี้ที่เกิดขึ้นจริงกับแรงงานส่วนใหญ่ในประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ในกระบวนการตรวจสอบตั้งแต่พนักงานตรวจแรงงานและศาลชั้นต้นที่ต้องไต่สวนและตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านและเข้าใจสภาพชีวิตของลูกจ้างที่ยากลำบาก ควรดำเนินการอย่างเป็นธรรม ดังนั้น ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏในรายงานการตรวจสอบตามหลักจรรยาบรรณของธุรกิจที่ระบุว่า มีการจัดทำเอกสารการจ่ายค่าจ้างแตกต่างกันถึง 3-4 แบบ มีการซักซ้อมกับลูกจ้างก่อนที่จะมีการตรวจสอบของฝ่ายตรวจสอบตามหลักจรรยาบรรณ และมีการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหลายเรื่องทั้งในเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ  ค่าล่วงเวลา และเอกสารการจ่ายค่าจ้างแบบรายชิ้น รวมทั้งมีบุคคลอื่นฝ่ายโรงงานเป็นผู้ตอกบัตรลงเวลาทำงานของลูกจ้างมาตลอด เป็นต้น ทั้งพนักงานตรวจแรงงานและศาลแรงงานภาค 6 ควรต้องตรวจสอบอย่างจริงจัง ตามปรัชญาแนวคิดของการไต่สวนคดีแรงงาน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและหลักฐานที่เป็นความจริง ถูกต้องครบถ้วน เพื่อจะได้ตัดสินคดีอย่างเที่ยงธรรม  เพราะหาก คำตัดสินของพนักงานตรวจแรงงาน ศาลแรงงานภาค 6 (นครสวรรค์)  และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษได้ระบุไว้ ยังไม่เพียงพอต่อการเข้าถึงความจริงที่เกิดขึ้นและการบังคับใช้กฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่แรงงานข้ามชาติกลุ่มที่มีความยากลำบากหรือกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีที่ฟ้องร้องกันเป็นเพียงสิทธิขั้นพื้นฐานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เท่านั้น ในขณะที่ธุรกิจต่าง ๆ ก็มีแต่ขยายการจ้างงานที่แม่สอด และยังปรากฏข้อมูลว่ากระบวนการจ้างงานของฝ่ายธุรกิจยังมีความซับซ้อน ซ่อนเงื่อน อีกมากมาย

มุมมอง ความไม่เท่าเทียมระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เป็นประเด็นที่ควรได้รับการพิจารณาในกระบวนการยุติธรรมศาลแรงงานไทย กรณีลูกจ้าง VK GARMENT

“ผมคิดว่าศาลแรงงานแม้มีผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง แต่หลายท่านไม่เข้าใจปัญหาแรงงาน ทำให้ไม่มีบาทบาทช่วยในการตรวจสอบค้นหาความจริงในคดี ในคดีมีความซับซ้อน โดยเฉพาะคดีที่ลูกจ้างเป็นแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ทั้งขาดความรู้ความเข้าใจและอยู่ภายใต้อำนาจครอบงำของนายจ้าง ไม่กล้าโต้แย้งหรือพูดความจริงเมื่อมีผู้เข้าไปตรวจสอบโรงงาน เรื่องนี้เป็นปัญหาระบบของสหภาพแรงงานไทยที่ทำให้ไม่ได้ตัวแทนของลูกจ้างไปเป็นผู้พิพากษาสมทบ ทั้งกระบวนการพิจารณาคดีในศาลแรงงานที่แม้กำหนดให้ใช้ระบบไต่สวน แต่หลายคดี ศาลรับฟังข้อเท็จจริงที่ได้จากพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่ยุติ ดังนั้นต้องแก้ปัญหาเชิงระบบ เชิงโครงสร้าง ต้องมีการปรับกระบวนการในการพิจารณาคดีแรงงาน เพื่อให้ศาลทำหน้าที่ค้นหาความจริงอย่างแท้จริง” สมชาย หอมลออ

สมชาย หอมลออ ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)

สมชาย หอมลออ ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ 3 ประการ ดังนี้

ประการที่ 1 แนวคิดทางกฎหมายแรงงานไทยถือว่า กิจการเป็นของนายจ้างแต่เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นการดำเนินกิจการและบริหารจัดจึงเป็นอำนาจสิทธิ์ขาดแต่เพียงฝ่ายเดียวของนายจ้าง แต่ความจริงแล้วยังมีมีแนวคิดอื่นๆ เช่น ของฝ่ายสังคมนิยมที่ถือว่าในกิจการหนึ่งๆ ลูกจ้างมีลักษณะเป็นหุ้นส่วนด้วย ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมจึงต้องคำนึงถึงความมั่นคงในการทำงานและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของลูกจ้างด้วย   

ประการที่ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างไม่เท่าเทียมกัน ยิ่งถ้าถือว่านายจ้างมีอำนาจบริหารงานโดยเด็ดขาดด้วยแล้ว ลูกจ้างจะตกเป็นเบี้ยล่างและจำยอมให้นายจ้างเอารัดเอาเปรียบได้โดยง่าย โดยเฉพาะลูกจ้างที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก หญิง คนงานไร้ฝีมือ และแรงงานข้ามชาติ ยิ่งแรงงานที่ไม่ได้รวมกันเป็นสหภาพแรงงานแล้วอำนาจในการต่อรองกับนายจ้างแทบไม่มีเลย  ดังนั้น ศาลแรงงานควรคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ซึ่งเรียกกฎหมายนี้ว่า “กฎหมายคุ้มครองแรงงาน” ไม่ใช่กฎหมายแพ่งแบบทั่วๆไป กฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นกฎหมายที่คุ้มครองคนงานที่เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม โดยอาจเรียกว่าเป็น social law คือ กฎหมายที่คุ้มครองกลุ่มคนที่เปราะบางในสังคม เช่น ผู้บริโภค ชนกลุ่มน้อย คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ ถ้าเจ้าหน้าที่ที่รักษากฎหมายและศาลไม่เข้าใจแนวคิดนี้ ก็ยากที่จะทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงความยุติธรรมได้

ประเด็นที่ 3 ลูกจ้าง โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ เป็นแรงงานที่มักตกอยู่ในอำนาจครอบงำของนายจ้าง เป็นกลุ่มเปราะบาง กฎหมายเข้าไปคุ้มครองไม่ถึง เอกสารพยานหลักฐานต่างๆ อยู่ในอำนาจควบคุมของนายจ้างได้  เมื่อมีข้อพิพาททางคดีความ ลูกจ้างจึงยากที่จะนำเสนอข้อเท็จจริงพยานหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่หรือศาลได้ เพราะทุกอย่างอยู่ที่นายจ้างทั้งหมด นายจ้างจะบิดเบือนอย่างไรก็ได้ ถ้าไปดูกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ก็จะเห็นว่านายจ้างต้องเก็บบันทึกการเข้าทำงาน ออกงาน  จ่ายค่าจ้าง ฯลฯ ลูกจ้างไม่สามารถเก็บ และไม่สามารถเข้าถึงเอกสารได้ด้วย ถ้านายจ้างไม่ให้ดูก็ไม่มีทางที่ลูกจ้างจะเข้าถึงได้

ดังนั้น กฎหมายวิธีพิจารณาคดีแรงงาน จึงกำหนดให้ศาลแรงงานเป็นศาลชำนัญพิเศษ คือ ศาลที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องแรงงาน อย่างน้อยต้องเข้าใจประเด็นทั้งสามดังกล่าวข้างต้น  และกำหนดให้ศาลใช้การแสวงหาความจริงโดย ระบบไต่สวน คือ ศาลเป็นผู้ค้นหาความจริงเอง โดยเฉพาะศาลแรงงานชั้นต้น ซึ่งเป็นศาลที่นั่งพิจารณาคดี มีอำนาจเรียกบุคคลหรือพยานหลักฐานใดๆมาศาลได้ทั้งสิ้น ศาลชั้นต้นจึงต้องค้นหาความจริงให้ครบถ้วน สิ้นกระแส ปราศจากข้อสงสัย จนเป็นข้อยุติที่ไม่สามารถโต้แย้งได้ เพราะในชั้นอุทธรณ์ และฎีกา จะโต้แย้งกันในประเด็นข้อเท็จจริงกันอีกไม่ได้ หากศาลชั้นต้นไม่ค้นหาความจริง แต่ยอมรับเพียงการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานว่า เป็นข้อเท็จจริงที่ยุติแล้ว ทั้ง ๆ ที่มีการโต้แย้งในคดีว่ากระบวนการตรวจของพนักงานตรวจแรงงานมีข้อบกพร่อง อาจส่งผลทำให้แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับความเป็นธรรม

เรื่องความรู้ความเข้าใจเรื่องแรงงานของศาล ก็เป็นประเด็นที่ควรพิจารณา นี่เป็นปัญหาเชิงระบบด้วย  ศาลแรงงานเป็นศาลชำนัญพิเศษ ผู้พิพากษาศาลแรงงานควรต้องมีความชำนาญเรื่องแรงงานและมีทักษะในการพิจารณาคดีในระบบไต่สวนเป็นพิเศษด้วย ผู้พิพากษาศาลแรงงานเป็นผู้ที่โยกย้ายมาจากศาลยุติธรรมทั่วไป ท่านถนัดคดีอาญา คดีแพ่ง ทั่วๆไป จริงอยู่ ก่อนทำหน้าที่ในศาลแรงงาน มีการฝึกอบรมเรื่องกฎหมายแรงงาน  แต่น่าจะไม่เข้าใจกฎหมายแรงงานในฐานะที่เป็น socialaw ไม่เข้าใจปัญหาแรงงาน โดยเฉพาะปัญหาของแรงงานที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น แรงงานข้ามชาติ และขาดทักษะในการพิจารณาและดำเนินคดีในระบบไต่สวนตามกระบวนการพิจารณาคดีแรงงาน  ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่ผู้พิพากษาศาลแรงงานจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่เพียงไม่กี่ปี ก็โยกย้ายไปศาลอื่น แม้ว่าศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ตั้งแผนกคดีแรงงานขึ้นมา โดยประกอบด้วยผู้พิพากษาที่เคยปฏิบัติหน้าที่ในศาลแรงงานชั้นต้นมา มีความรู้ ความชำนาญมากขึ้น แต่ในประเด็นข้อเท็จจริง ศาลสูงทั้งสองศาลนี้ก็ไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัย

ความเป็นมาของคดี VK จากศาลแรงงานไทยจนนำไปสู่การฟ้องคดีที่ศาลอังกฤษ
สืบเนื่องจากคดีนี้ เกิดขึ้นช่วงเดือนตุลาคม ปี 2563 แรงงานข้ามชาติจำนวน 136 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างของโรงงานผลิตเสื้อผ้าของ บริษัท วีเค การ์เม้นท์ จำกัด ที่ตั้งในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตาก สาขาแม่สอด เพื่อเรียกร้องเงินค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าทำงานล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างในวันหยุดประเพณีย้อนหลัง 2 ปี และเงินค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โดยความเสียหายทั้งสิ้นรวม 136 คน รวมประมาณ 34 ล้านบาท ซึ่งหลังจากได้มีคำร้องและปรากฎข้อเท็จจริงต่อพนักงานตรวจแรงงาน ทางพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตาก สาขาแม่สอด ได้ออกคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 40/2563 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ให้นายจ้างโรงงานผลิตเสื้อผ้าของ บริษัท วีเค การ์เม้นท์ จำกัด จ่ายชดใช้ค่าชดเชยประมาณ 3.6 ล้านบาท และค่าจ้างที่ไม่บอกกล่าวล่วงหน้าประมาณ 1.6 ล้านบาท ซึ่งทำให้ลูกจ้างรู้สึกว่าจำนวนค่าชดใช้ค่าชดเชยตามคำสั่งดังกล่าวไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง

สภาพการทำงานที่ยาวนานของลูกจ้างที่ทำงานสิ่งทอ

ด้วยจำนวนค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ที่พนักงานตรวจแรงงานประเมินออกมานั้นทางฝั่งลูกจ้างโรงงาน 136 คน ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจึงได้ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานภาค 6 ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าว ปรากฏว่าฝ่ายนายจ้างคือ บริษัท วีเค การ์เม้นท์ จำกัด ก็ไม่ยอมรับคำสั่งให้ชดใช้ค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ต่อลูกจ้างเช่นกัน จึงได้ดำเนินการฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานซึ่งดำเนินการฟ้องคดีก่อนลูกจ้าง ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติจึงได้ยื่นคำร้องสอดเข้าไปในคดีดังกล่าวเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม (เรียกว่าผู้ร้องสอด) ซึ่งมีนายจ้างบริษัท วีเค การ์เม้นท์ จำกัด เป็นโจทก์ พนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตาก สาขาแม่สอด เป็นจำเลย

ต่อมาเมื่อ 15 กันยายน 2565 ศาลแรงงานภาค 6 พิพากษาให้นายจ้างจ่ายค่าชดใช้ชดเชยเพิ่มอีกประมาณ 1.6 ล้านบาท  เนื่องจากฝ่ายลูกจ้างสามารถนำสืบพยานหลักฐานเกี่ยวกับระยะเวลาการทำงานได้ ฝ่ายลูกจ้างจึงเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 6 ในเรื่องค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่วินิจฉัย จึงไม่ติดใจดำเนินคดีต่อไปในประเด็นดังกล่าว (คดีหมายเลขแดงที่ ร 1030/2565 ลงวันที่ 15 กันยายน 2565 )  แต่ลูกจ้าง 136 คน ยังคงไม่เห็นด้วยกับเรื่องเงินต่าง ๆ ที่ตอบแทนการทำงาน หลักฐานการจ่ายค่าจ้าง และกระบวนการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานที่ ไม่ถูกต้องตามระเบียบการสอบสวนและตามกฎหมาย และรวบรวมหลักฐานข้อเท็จจริงที่ไม่ครบถ้วน หลังจากมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ลูกจ้าง 136 คน ได้ยื่นอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว จนเมื่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษได้มีคำตัดสินว่าประเด็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานชอบด้วย ระเบียบว่าด้วยการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงาน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541แล้ว และอีกหลายประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับข้อเท็จจริงประกอบความไม่โปร่งใสในเรื่องกระบวนสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานและพยานหลักฐานสำคัญที่ชี้ว่าบริษัท วีเค การ์เม้นท์ จำกัด ได้ละเมิดสิทธิแรงงานในเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุด เนื่องจากเป็นพยานหลักฐานที่ไม่เป็นไปตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 114 และกฎหมายว่าด้วยลักษณะพยานคือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 123

ลูกจ้างผู้เป็นแรงงานข้ามชาติ 136 คน จึงได้ดำเนินการขออนุญาตฎีกาและยื่นฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 เพื่อขอให้ศาลฎีกาได้โปรดตรวจสอบกระบวนการสอบสวนและไต่สวนในคดีแรงงานตั้งแต่ชั้นพนักงานตรวจแรงงาน จนถึงชั้นอุทธรณ์ และได้วินิจฉัยข้อกฎหมายสำคัญที่ฝ่ายธุรกิจกระทำต่อแรงงานข้ามชาติ อันเป็นการใช้สิทธิดำเนินคดีให้ถึงที่สุด โดยลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติ 136 คน มีความคาดหวังว่าจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงาน

ลูกจ้างฟ้องคดีต่อศาลอังกฤษ กรณีใช้แรงงานบังคับใน VK GARMENT ซึ่งเป็นฐานผลิตเสื้อผ้าให้แบรนด์ TESCO
เมื่อปี 2565 สำนักข่าว The Guardian ได้รายงานข่าวเรื่องบริษัทเทสโก้ถูกฟ้อง กรณีบังคับใช้แรงงานผลิตกางเกงยีนส์ F&F ที่แม่สอด (Workers in Thailand who made F&F jeans for Tesco ‘trapped in effective forced labour’ ลงวันที่ Sun 18 Dec 2022 ) ซึ่งมี ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติในโรงงาน 136 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลอังกฤษผ่านสำนักงานกฎหมาย Leigh Day โดยฟ้องร้องบริษัทที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ บริษัท วีเค การ์เม้นท์ จำกัด (VK GARMENT), ‘เทสโก้’ (Tesco PLC) ‘เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม’ (Ek-Chai Distribution System Company Limited ซึ่งมีเทสโก้เป็นเจ้าของ ก่อนขายให้เครือเจริญโภคภัณฑ์ในปี 2563) และบริษัทตรวจสอบ (auditing) ที่ชื่อว่า ‘อินเตอร์เทค’ (Intertek) ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานในโรงงานท้อผ้า VK GARMENT ลูกจ้างแรงงานเมียนมาในโรงงาน 136 คน อยู่ในสภาพถูกบังคับใช้แรงงานในหลากหลายรูปแบบ เช่น การทำงาน 99 ชั่วโมง/สัปดาห์ ได้รับค่าจ้างที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด เพื่อผลิตสินค้าเสื้อผ้าส่งให้แบรนด์ดังระดับโลก ซึ่งมีการสัมภาษณ์ลูกจ้างแรงงานเมียนมา จำนวน 21 คน มีรายละเอียดว่า

  • แรงงานส่วนใหได้รับค่าจ้างเพียง ประมาณ 136 บาท (3 ปอนด์) ต่อวัน โดยทำงานระหว่างเวลา 8.00 น. – 23.00 น. โดยมีวันหยุดเพียง 1 วัน/เดือน
  • บันทึกเกี่ยวกับการจ้างงานจะถูกเก็บไว้โดยหัวหน้างาน แสดงให้เห็นว่าคนงานส่วนใหญ่ในสายงานของตนได้รับค่าจ้างน้อยกว่าประมาณ 180 บาท/วัน (4 ปอนด์ต่อวัน) ซึ่งต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายของประเทศไทย
  • ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติเมียนมาต้องทำงานตลอดทั้งคืนเป็นเวลา 24 ชั่วโมงอย่างน้อยเดือนละ1 ครั้ง เพื่อทำตามคำสั่งซื้อแบรนด์ Supply Chain จำนวนมาก เมื่อแรงงานทำงานเมื่อยล้าก็หลับไปบนจักรเย็บผ้า
  • มีกรณีที่ลูกจ้างได้รับบาดเจ็บสาหัส จากเครื่องมือในอุตสาหกรรมเย็บผ้า มีการสูญเสียอวัยวะปลายนิ้วชี้ของหลังจากผ่ามันด้วยเครื่องทำกระดุมขณะกำลังผลิตแจ็คเก็ตยีนส์ F&F
  • ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติหลายคนกล่าวว่าพวกเขาถูกผู้จัดการในโรงงานตะโกนและขู่หากพวกเขาไม่ได้ทำงานล่วงเวลาและบรรลุเป้าหมายตามคำสั่ง
  • คนงานมากกว่า 12 คน ที่ให้สัมภาษณ์กล่าวว่าโรงงานได้เปิดบัญชีธนาคารให้พวกเขา แล้วยึดบัตรและรหัสผ่านเพื่อให้ดูเหมือนว่าพวกเขาได้รับค่าจ้างขั้นต่ำแต่จ่ายเป็นเงินสดน้อยกว่ามาก
  • คนงานส่วนใหญ่อาศัยนายจ้างในการรับรองสถานะการเข้าเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีลูกจ้างแรงงานข้ามชาติบางคนกล่าวว่า พวกเขาถูกยึดเอกสารประจำตัวโดยโรงงานเพื่อชดใช้หนี้สินจากการทำเอกสารการจ้างงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย
  • สภาพที่พักของลูกจ้างไม่เหมาะสม ซึ่งลูกจ้างต้องพักอาศัยในพื้นที่ว่างใกล้โรงงานที่เป็นห้องที่แออัดยัดเยียดสำหรับนอนและมีห้องน้ำที่สกปรก คนงานบอกว่าห้องส่วนใหญ่ไม่มีประตู มีเพียงผ้าม่านเท่านั้น

ดังนั้น การฟ้องร้องคดีนี้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศจึงเป็นตัวสะท้อนสำคัญที่ทำให้เห็นว่าเมื่อลูกจ้างมีความกล้าหาญที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิต่อนายจ้างเมื่อถูกละเมิดตามกระบวนการยุติธรรม และอาศัยการต่อสู้ทางกฎหมายต่อบริษัทที่เกี่ยวข้อง การฟ้องคดีของลูกจ้างแรงงานข้ามชาตินี้ได้สร้างผลกระทบต่อตัวพวกเขาเองทั้ง 136 คน ที่ใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในประเทศไทย แต่การที่พวกเขาเลือกที่จะสู้ไม่ถอย เพราะพวกเขาต้องการให้เห็นว่าลูกจ้างแรงงานทุกคนต้องตระหนักถึงสิทธิของตนและไม่ยอมให้ตนถูกละเมิดสิทธิ นี่คือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อน

อ้างอิง