HRDF ชวนจับตา มติเอกฉันท์ สภาผู้แทนราษฎร รับหลักการ ร่างกฎหมายประมง ทั้ง 8 ฉบับ

จากวันที่ 22 ก.พ. 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเอกฉันท์ 416 เสียง ให้รับหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และมีร่างกฎหมายในทำนองเดียวกันอีก 7 ฉบับที่ สส.เป็นผู้เสนอ

วันที่ 25 ก.พ.2567 บัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยในเว็บไซต์ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ตามที่ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 20 (สมัยวิสามัญประจำปี ครั้งที่ 2) วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 กรณี “ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 พ.ศ….” ผลปรากฏว่า ที่ประชุมสภาฯ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านได้ลงคะแนนเสียง มีมติเป็นเอกฉันท์ 416 เสียง “รับหลักการ” ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. …. ทั้ง 8 ร่าง ที่เสนอโดย (1) คณะรัฐมนตรี (2) นายอนุทิน ชาญวีรกูล กับคณะ (3) นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ กับคณะ (4) นายพิทักษ์เดช เดชเดโช กับคณะ (5) นายคอซีย์ มามุ กับคณะ (6) นายวรภพ วิริยะโรจน์ กับคณะ (7) พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง กับคณะ (8) นายวิชัย สุดสวาสดิ์ กับคณะ

โดยที่ประชุมสภาฯ มีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 37 คน เพื่อพิจารณาร่างฯ ซึ่งในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี ได้เสนอชื่อนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ และกำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 15 วัน โดยให้ถือเอาร่างพระราชบัญญัติของคณะรัฐมนตรีเป็นหลักในการพิจารณา

อธิบดีฯ กล่าวในรายละเอียดว่า การเสนอร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว สืบเนื่องจาก ในพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวประมง ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการทำการประมงผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์และการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม สามารถประกอบอาชีพประมงได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมงให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างสุจริตและได้รับความเป็นธรรม ตลอดจนส่งเสริมการประกอบอาชีพประมงให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้ โดยรายละเอียดการแก้ไข สามารถอ่านต่อได้ที่ https://www4.fisheries.go.th/dof/news_local/1210/207918

นอกจากนี้ทางองค์กรภาคประชาสังคม ได้มีการจัดเวทีเสวนาจับตาการแก้ไข พ.ร.ก.ประมง ฉบับปลดล็อกแก้ ‘ไอยูยู’ โดยเวทีเสวนา ‘สรุปทิศทางประมงไทยในบริบทการค้าระหว่างประเทศ : ข้อพิจารณาเรื่องสิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม และมาตรฐานตลาดการค้าอาหารทะเล’ เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2567 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) ได้เสนอแนะแนวทางการปรับปรุงกฎหมายและความร่วมมือในการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง – ผอ.EJF หวั่น ‘รัฐบาลเศรษฐา’ แก้ กม.ประมงทำสิทธิมนุษยชนถอยหลัง กระทบส่งออก 1.72 แสนล้านบาท – นายกสมาคมฯ ทูน่าไทย ชี้ประมงไทยไม่ยั่งยืนเพราะ “สกปรก-เสี่ยงสูง-งานยาก/งานหนัก” ถ้ารัฐไม่ส่งเสริมทุกส่วนจะถูกกีดกันทางการค้าโลก – นักวิชาการ มธ. แนะรัฐบาลสร้างมาตรฐานประมงยั่งยืน-สางปัญหา IUU ทำสินค้าให้ได้มาตรฐานยุโรปใส่ใจกระบวนการผลิตแข่งขันได้ทั่วโลก อ่านต่อได้ที่ https://hrdfoundation.org/?p=3438

โดยภาคประชาสังคมจับตาเรื่องข้อห่วงใยและข้อเสนอต่อการมาตรการแก้ไขกฎหมายประมงของประเทศไทย #ออกแถลงการณ์ของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติและภาคประชาสังคม เรื่องข้อห่วงใยและข้อเสนอต่อการมาตรการแก้ไขกฎหมายประมงของประเทศไทย ในวันที่ 18 มกราคม 2567 https://hrdfoundation.org/?p=3428