ก่อนการเลือกตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ต.ค.2023: รวมสรุปเนื้อหาเสวนา+แถลงการณ์+จดหมายเปิดผนึกมุมมองจากสถานการณ์การคุ้มครองแรงงานและประชากรข้ามชาติ

11 มีนาคม 2567 เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ได้ส่งจดหมายเปิดผนึก ถึงข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ท่าทีและข้อเสนอแนะของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติต่อรัฐบาลไทยก่อนการเลือกตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยได้สำเนาถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยเนื้อหาหลักคือแนวทางการพัฒนามาตรการในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย

ภาคประชาสังคมยื่นหนังสือถึงข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

เนื้อหาจดหมายเปิดผนึก กล่าวถึง ข้อเสนอแนะของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติต่อรัฐบาลไทยก่อนการเลือกตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ อ้างตาม มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 รับทราบการลงสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่ง สหประชาชาติของประเทศไทย (United Nations Human Rights Council: HRC) วาระปี ค.ศ. 2025-2027 (พ.ศ. 2568-2670) ซึ่งมีกำหนดเลือกตั้งในช่วงเดือนตุลาคม 2567 (สามารถอ่านต่อได้ที่ https://hrdfoundation.org/?p=3716 )


รัฐไทยควรปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนต่อ ‘ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน’ เน้น กม.คนเข้าเมือง สร้างผลกระทบมากที่สุดต่อผู้ลี้ภัย

ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ กล่าวปาฐกถา

สืบเนื่องวันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา  เวลา 17.00 – 20.15 น. ที่ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) เครือข่ายภาคประชาสังคม ประกอบด้วย มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) และ Solidarity Center (SC) ได้ออกแถลงการณ์แถลงท่าทีและข้อเสนอแนะของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติต่อรัฐบาลไทยก่อนการเลือกตั้ง คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (อ่านต่อที่  https://hrdfoundation.org/?p=3669)  และได้จัดเวทีเสวนาไทยกับเก้าอี้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ : มุมมองจากสถานการณ์การคุ้มครองแรงงานและประชากรข้ามชาติ โดยมีข้อเสนอและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในการพัฒนามาตรการในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย ก่อนการเลือกตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ช่วงเดือนตุลาคม 2567 ทั้งนี้ข้อเสนอจากเวที เพื่อนำสรุปข้อเสนอแนวทางให้รัฐไทยได้สร้างหลักประกัน และสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาคมโลกว่าประเทศไทยมีความจริงใจและยืนยันในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนทุกกลุ่ม และเป็นหลักประกันสำหรับแรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ และประชาชนไทยว่าจะได้รับการคุ้มครองและดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน และเพื่อให้ประเทศไทยได้ยืนอยู่ในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้อย่างเต็มภาคภูมิ

“สิ่งที่กระทบมากที่สุดคือรัฐใช้ กม.คนเข้าเมือง บางครั้งก็ยืดหยุ่นให้เข้ามาได้โดยมีนโยบาย กม.นี้เป็นประเด็นทั่วโลกเพราะกฎหมายนี้ไม่ตอบสนองถ้ารัฐเดิมของคนเข้ามาไม่ปกป้องเขาจะทำอย่างไร?  กม.คนเข้าเมือง สันนิษฐานว่ากลุ่มคนที่เข้ามานั้นมีรัฐเดิมที่ปกป้อง แต่ไม่รวมกรณีที่เขาหนีภัยเข้ามา เพราะฉะนั้น ไม่น่าจะใช้กฎหมายคนเข้าเมืองเกี่ยวกับผู้อพยพลี้ภัย” วิทิต มันตาภรณ์

ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ไทยและคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ อเจนด้าภาคสอง?” สรุปสาระสำคัญได้ว่า  สถานการณ์การคุ้มครองแรงงาน แรงงานข้ามชาติ และผู้อพยพ ยังน่ากังวล เมื่อไทยจะประกาศลงชิงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สิ่งที่เห็นคือสถานการณ์ปัญหาที่บริเวณชายแดนแม่สอด กรณีที่มีการกวาดล้างแก๊งอาชญากรรมคอลเซ็นเตอร์ ทั้งกลุ่มจีนเทา และเหยื่อ 900 กว่าคน กลับประเทศจีน สถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา ถูกจับตาบนเวทีโลก นอกจากนี้ในประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยนั้น รูปธรรมที่ชัดที่สุดที่เป็นผลจากเผด็จการในอดีต คือการดำเนินคดีเกี่ยวกับเด็กเยาวชนนักกิจกรรมที่ใช้สิทธิในการชุมนุมตามระบอบประชาธิปไตย มีจำนวนกว่า 280 คนในประเทศไทยที่พวกเขาถูกดำเนินคดีอาญาในเรื่องสิทธิการชุมนุม จึงขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจทั้งหลายยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดที่มีต่อเยาวชนนักกิจกรรมเหล่านี้ที่ใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ประเด็นในครั้งนี้ขอเน้นเรื่องที่ประเทศไทยจะไปประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติของประเทศไทย (United Nations Human Rights Council: HRC) วาระปี ค.ศ. 2025-2027 (พ.ศ. 2568-2670) ที่ New York ในอีก 6 เดือน มากกว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองแล้ว ประเด็นที่ซ้อนทับลงไปในเรื่องของระบบเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชน คือ การที่รัฐบาลไทยปฏิบัติต่อ “ผู้โยกย้ายถิ่นฐานไม่ปกติ” ที่อยู่ในประเทศไทยยังมีปัญหาด้านมนุษยธรรม ซึ่งของแบ่งกลุ่มเหล่านี้ ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

1.ผู้อพยพลี้ภัยประหัตประหาร-ภัยสงคราม ซึ่งรัฐไทยมองเป็นเพียงกลุ่มคนที่หลบหนีเข้าเมือง สาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับระหว่างประเทศ คือ 1.เราไม่ได้เป็นภาคีผู้ลี้ภัย 2.ไทยเป็นภาคีอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนเพียง 7 ฉบับใน 9 ฉบับ ซึ่งใช้เพื่อคุ้มครองปกป้อง เช่น มาตรา 13 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง “ห้ามส่งคนต่างด้าวออกจากประเทศอย่างพลการ รวมถึงผู้อพยพลี้ภัยด้วย” นอกจากนั้นยังมีกฎหมายระหว่างประเทศ (UN Global Compact – UNGC) และยังมีเวทีอื่นๆที่ไทยได้ให้คำมั่นสัญญาในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในเวทีระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งในประเทศไทยเองนั้นรัฐยังมองกลุ่มผู้เข้าเมืองโดยมุมมองของ พ.ร.บ.คนเข้าเมืองอย่างเดียว ไม่ได้มองถึงกลุ่มคนที่หนีภัยความไม่สงบจากรัฐอื่นมา แต่ยังมีข้อดีที่ไทยนั้นมี พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งใน พรบ.นี้มีรายละเอียดห้ามส่งกลับใครก็ตามที่รู้ว่าจะเป็นภัยอันตรายต่อชีวิตเขา อันนี้ต้องใช้ให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้นโยบายด้านอื่นๆจริงๆตัวกฎหมายไม่ได้เลือกปฏิบัติแต่มีการใช้อย่างหละหลวม เช่น กฎหมายการศึกษา ในประเด็นนี้กลุ่มผู้ลี้ภัยที่อยู่ในศูนย์อพยพ หรือศูนย์พักพิงชั่วคราวฯ จำนวนกว่า 90,000 คน กลุ่มนี้ประเทศไทยทำงานได้ดี แต่ขอให้ดีขึ้นอีก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ในค่ายควรได้รับการศึกษาต่อเนื่องจนถึงระดับมหาวิทยาลัย มีการจัดทำเอกสารชัดเจน และรับรองเอกสาร การไม่พัฒนากลุ่มคนเหล่านี้ให้มีศักยภาพทำให้เกิดการแอบลักลอบทำงานเอื้อระบบใต้ดิน ประเทศไทยควรเปิดโอกาสให้กลุ่มนี้เป็นกำลังแรงงานในประเทศ

2.กลุ่มคนจากประเทศพม่า ที่เข้ามาใหม่ จากเหตุการณ์ความไม่สงบรัฐประหาร 1 ก.พ.2563 กลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มที่เข้ามาหลายหมื่นคนและหลายครั้งเข้ามาได้ และก็ถูกผลักดันกลับ กลุ่มนี้ขอเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ขอให้เข้าชั่วคราว 2.ไม่ผลักดันกลับ 3.เคารพสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ข้าวน้ำ การศึกษา และสาธารณสุข

3.กลุ่มเขมร กลุ่มนี้ในความอ่อนไหวทางการเมือง ขอให้รัฐไทยไม่ผลักดันกลับ ให้อยู่เพียงชั่วคราว คุ้มครองสิทธิเสรีภาพพื้นฐาน และสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 2-3 ปี คือ รัฐไทยดันกลุ่มคนเหล่านี้กลับและชะตาชีวิตพวกเขาต้องอยู่ในเรือนจำที่ประเทศเขมร ถึง 2-3 ปี

4.กลุ่มผู้ลี้ภัยในเมือง urban refugee หลายสัญชาติ กลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 5,000 คนในประเทศไทย สถานะอยู่ได้ชั่วคราว  ตอนนี้เรามี “กฎหมายกลั่นกรองผู้ควรได้รับการคุ้มครองปกป้อง” เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งจะมีการบังคับใช้ มีเรื่องมาตรฐานของใครคือกลุ่มที่จะเข้ามาตรการนี้ได้ “อพยพลี้ภัย” ใช้คำว่า “ผู้ที่ได้รับการคุ้มครอง” เกณฑ์ล่าสุด คือ ห้ามคนต่างด้าวเข้ากระบวนการนี้ ต้องเป็นคนหนีร้อนมาพึ่งเย็นเท่านั้น ดังนั้น ขอให้บังคับใช้เพราะรอมาถึง 30 ปี และขอให้ monitoring จาก UNHCR ในเรื่องอนาคตฝากว่า การคุ้มครองขั้นต้นสำคัญมาก อันนี้ขึ้นอยู่กับการเยียวยาในระยะยาว การไปตั้งถิ่นฐานประเทศที่สาม หรือกลับประเทศเดิม แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความปลอดภัย

กลุ่มไร้รัฐไร้สัญชาติ ในเรื่องนี้มี 3 ประเด็น 1.เวทีต่างประเทศที่ไทยมีส่วนร่วม  2.กฎหมายนโยบายทางปฏิบัติ และ 3.ทางออก สนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องกับคนไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ มี 2 ฉบับ คืออนุสัญญา ปี 1954 และอนุสัญญา ปี 1961 ไทยไม่ได้เป็นภาคี สนธิสัญญานี้ระบุว่าใครที่ไร้สัญชาติไร้รัฐจะต้องได้สัญชาติของรัฐที่เขาเกิด อย่างไรก็ดีไทยเป็นภาคีอนุสัญญา 7 ฉบับจาก 9 ฉบับ เช่นเรื่องการศึกษา ซึ่งไม่เลือกปฏิบัติในหลักการ และเรื่องการจดทะเบียนเกิดด้วย ทางออก คือ 1.เด็กที่เกิดในประเทศไทยที่ไม่มีสัญชาติ รัฐต้องให้สัญชาติไทยเด็กเหล่านี้เลย ต้องทำให้เกิดขึ้นบนโต๊ะอย่างชัดเจน 2.กลุ่มที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทยแต่ไร้สัญชาติ ให้ resiliency เปิดช่องให้ทำงานได้ อย่าให้สถานะเคว้ง อย่าใช้กฎหมายคนเข้าเมือง 3.มิติที่น่าสนใจ คือ สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณา รับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์พรบ.ชนเผ่า สิ่งนี้เน้นย้ำว่าทุกคนต้องที่เกิดในไทยไม่ว่าใครต้องได้สัญชาติ คนที่ตกหล่นสันนิษฐานว่าต้องได้ ต้องมีสภาชนเผ่าในสภาเป็นวิธีการขจัดการไร้สัญชาติ

“เรื่องที่ปวดหัวคือเรามีกฎหมายเยอะเหลือเกินเป็นร้อยๆหน้า กฎหมายสัญชาติ กฎหมายคนเข้าเมือง และอื่นๆที่เข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดีมีแนวโน้มผ่าน UNHCR มีการรณรงค์ให้ให้สัญชาติ ซึ่ง 3 ปี ก่อนในสถิติล่าสุด ก็ประมาณ 500,000 คน ในประเทศไทยที่เป็นคนไม่มีสัญชาติ” วิทิต มันตาภรณ์

ประเด็นด้านแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ วิทิต กล่าวว่า ตอนนี้เราเป็นภาคีอนุสัญญาแรงงาน 20 จาก 190 ฉบับขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) และใน 190 ฉบับ มี 8 ฉบับซึ่งเป็นพื้นฐาน ไทยเป็นภาคีเพียง 6 จาก 8 ฉบับ จะมีเรื่องห้ามการบังคับใช้แรงงาน (Forced Labor) ห้ามเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน ปกป้องคุ้มครองเด็ก ขจัดการใช้แรงงานเด็ก ฯลฯ ที่ไม่เป็นภาคี คือ การสมาคม หรือ Trade Union ในอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง ส่วนไทยนั้นมีกฎหมายจำนวนมาก ซึ่งที่ต้องจับตาต่อคือเรื่องกฎหมายประมงที่กำลังผ่านสภาฯเร็วๆนี้  ในการปฏิบัติในอนาคตต้องคลุมไปถึงกลุ่ม informal economy คนที่อยู่นอกกรอบการคุ้มครอง เช่น แรงงานภาคเกษตร  กลุ่ม digital หรือ gig economy เป็นต้น การคุ้มครองต้องไม่ใช่กลุ่มแรงงานลูกจ้างในระบบอย่างเดียว และควรให้ส่วนกระทรวงต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงนี้

“สนธิสัญญาที่เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว UN เราไม่ได้เป็นภาคี แล้ว ILO มีสนธิสัญญา 2 ฉบับเกี่ยวกับ Migrant Worker ก็ไม่ได้เป็นภาคี อย่างไรก็ดีเราร่วมกับ Global Compact และที่สำคัญมาก คือ แรงงานต่างด้าวที่มี MOU เป็นการเช็คการเข้าและออกของ Migrant Labour ในประเทศข้างเคียง เราควรทำให้คล่องมากขึ้นด้วยการลดกระดาษ ลดค่าธรรมเนียม (Fee) ในส่วนกลุ่มแรงงานที่ไร้เอกสารนั้น (Undocumented Worker) แม้แรงงานเข้าไม่มีเอกสารอะไรเลยนั้น เขาควรได้รับการคุ้มครองปกป้องจากการเอารัดเอาเปรียบ อย่ายึดแค่กฎหมายคนเข้าเมือง ในกรณีการปกป้องสิทธิเราจะทำให้เสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ การจ่ายค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม ค่าธรรมเนียมเกินจริงไม่ได้ แยกออกจากกันระหว่างเรื่องคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและการคุ้มครองสิทธิ  วิทิต มันตาภรณ์

เดวิด เวลส์ ผู้อำนวยการ โซดาริตี้เซ็นเตอร์ ประเทศไทย
และฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ดำเนินรายการ/ผู้สื่อข่าว The Reporters

เดวิด เวลส์ ผู้อำนวยการ โซดาริตี้เซ็นเตอร์ ประเทศไทย เดวิด เวลช์ ผู้อำนวยการโซริดาริตี้เซ็นเตอร์ ประเทศไทย ได้กล่าวถึงประเด็นสภาพปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติในเมืองไทย ทั้งเรื่องสิทธิแรงงาน การละเมิดของบริษัทเอกชนที่ปฏิบัติต่อแรงงาน อย่างปัญหาที่เห็นชัด คือการไม่มีนโยบายที่ชัดเจนปกป้องแรงงานอย่างครอบคลุม  อย่างแรงงานในระบบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและการเติบโตของเศรษฐกิจแบบกิ๊ก (gig economy) ทำให้เกิดการจ้างงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ นโยบายต้องมีนโยบายเกี่ยวกับสิทธิแรงงานแล้ว กลุ่มอาชีพขับมอเตอร์ไซค์เป็นไรเดอร์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีเรื่องปัญหาของผู้ลี้ภัย ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้ มีส่วนที่มาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และกลุ่มที่อพยพหนีภัยความขัดแย้งในประเทศมาไม่ว่าจะเป็นบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ชายแดนไทย-กัมพูชา ยังคงมีอยู่ซึ่งรัฐบาลต้องแยกออกถึงสภาพปัญหาเพื่อไม่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน นำไปสู่ความเสี่ยงที่ตามมาคือการละเมิดแรงงาน เลิกจ้างไม่เป็นธรรม

“ต้องมีการแก้ไขกฎหมายแรงงานที่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ แรงงานแพรทฟอร์ม แรงงานเกษตร และแรงงานข้ามชาติทั้งหมด คนงานทุกคนควรมีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานได้”เดวิด เวลส์

นอกจากนี้เวลช์ ยังเสนอประเด็นแรงงานข้ามชาติ ซึ่งส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นแรงงานนอกระบบและมักจะถูกปฏิเสธเสรีภาพในการรวมตัวเป็นการปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพ แม้จะยืนยันว่าบริษัทเหล่านี้เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์มากสุดจากการ แข่งขันตัดต้นทุน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายที่รัฐบาลไทยเลือกนำมาใช้ อย่างไรก็ดีได้ชี้ให้เห็นแนวโน้มในช่วงหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา จากกรณีที่แรงงานในประเทศไทยได้รับชัยชนะครั้งสำคัญ คดีนี้ทำให้เกิดมุมมองประเด็นการรวมกลุ่มของแรงงานทั้งในไทยและในระดับสากล อย่างกรณีที่มีการคุกคามแกนนำสำคัญของขบวนการสหภาพแรงงานในประเทศไทย โดยเฉพาะในคดีของแกนนำ 13 คนของ สร.รฟท. ด้วยการถูกฟ้องทางอาญาและแพ่ง ระยะเวลาถึง 13 ปี ทำให้เกิดการรณรงค์ในระดับสากลร่วมกับภาคประชาสังคมจนประสบความสำเร็จ ประชาคมสหภาพแรงงานทั้งในและระหว่างประเทศ รวมทั้งสถานทูตและประชาคมการค้า ระบุถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากรัฐบาลไทยยังคงดำเนินการตามเจตจำนงเดิม ที่ยังคงจำคุกผู้นำแรงงานเพียงเพราะการทำหน้าที่เป็นนักสหภาพแรงงาน การกระทำเช่นนี้แทบไม่สามารถหาตัวอย่างจากทั่วโลกที่แกนนำสหภาพแรงงานต้องตกเป็นเหยื่อจากการรณรงค์ตามสิทธิเสรีภาพ ซึ่งสร้างผลกระทบทำให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัวต่อขบวนการสหภาพแรงงานในภาพกว้าง จึงเป็นเรื่องที่เป็นหน้าเป็นห่วงอย่างมากโดยเฉพาะกลุ่มแกนนำสหภาพแรงงานรุ่นใหม่ ที่กังวลว่าพวกเขาอาจต้องเจอกับชะตากรรมแบบเดียวกับแกนนำในรุ่นก่อน ความพยายามที่จะหยุดการเคลื่อนไหวส่งผลกระทบต่อขบวนการสหภาพแรงงานทั้งหมด

เวลช์ ยกกรณีตัวอย่าง ปี พ.ศ.2565 มีคดีที่มีการฟ้องบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ซึ่งส่งผลให้บริษัทข้ามชาติจากสหรัฐฯ ต้องจ่ายค่าแรงกเกือบ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับพนักงานหญิงไทยกว่า 1,000 คน ถือเป็นการไกล่เกลี่ยและประนอมคดีที่มีมูลค่าสูงสุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมตัดเย็บในระดับโลก นับเป็นเหตุการณ์สำคัญและนำไปสู่การฟ้องคดีที่คล้ายคลึงกันกับบริษัทอื่น ๆ ที่เป็นห่วงโซ่อุปทานข้ามชาติในอุตสาหกรรมภาคส่วนต่าง ๆ เวลช์มีข้อสังเกตว่าในคดีเหล่านี้ ปัจจัยที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จคือการรณรงค์และกดดันในระดับสากล ทั้งนี้เพราะในปัจจุบัน ยังไม่มีระบบการประนอมคดีระดับสากลที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายกรณีที่เกิดข้อพิพาทระหว่างนายจ้าง/บรรษัทข้ามชาติ กับคนงาน/สหภาพแรงงาน เมื่อเกิดการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิแรงงาน เหตุเพราะกฎหมายแรงงานไทยอ่อนแอเกินไป และศาลแรงงานไทยมีแนวโน้มที่จะไม่สนับสนุนคำวินิจฉัยที่ส่งเสริมสิทธิของสหภาพแรงงานหรือแรงงาน มักนำไปสู่การลอยนวลพ้นผิด

“กฎหมายแรงงานและกฎหมายสหภาพแรงงานมีเป้าหมายเพื่อขยายและคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพด้านการสมาคม หากแต่กฎหมายแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้กลับมีเป้าหมายตรงกันข้าม เนื้อหาของกฎหมายแรงงานไทยยังคงทำให้การรวมตัวกันเป็นเรื่องยาก ทำให้การสลายตัวของสหภาพเป็นเรื่องง่าย และในตัวเนื้อหาของกฎหมายปฏิเสธอย่างเป็นระบบและจงใจไม่ให้คนงานนอกระบบและคนงานข้ามชาติ เข้าถึงสิทธิในการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน ทั้งที่พวกเขาควรจะได้ใช้ประโยชน์จากการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรองร่วมมากสุด ในที่สุดแล้ว บริษัทข้ามชาติ บริษัทของไทยและรัฐบาลไทย เป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากระบบเช่นนี้” เดวิด เวลส์

ด้วยเหตุนี้ เวลช์มองว่า จะต้องมีการเพิ่มแรงกดดันในการแก้ไขกฎหมายแรงงาน และคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของแรงงาน โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นแรงงานประเภทใดหรือมีสัญชาติใด นอกจากนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกลไกอย่างเป็นทางการเพื่อให้เกิดความรับรับผิดต่อบริษัทข้ามชาติ แม้ว่าแผนของรัฐบาลไทยที่เสนอต่อองค์การสหประชาชาติ ทั้งในแง่การแสดงพันธกิจด้านแรงงานและคนงาน อาจมีน้ำหนักมากพอทำให้พวกเขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน แต่ยังไม่พอที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อคนงานทั้งแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ หรือแรงงานนอกระบบ หรือแม้กระทั่งสหภาพแรงงานไทย

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิเพื่อสิทธิแรงงาน (มสร.)

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิเพื่อสิทธิแรงงาน (มสร.) กล่าวว่า สถานการณ์ของแรงงานที่ย้ายถิ่นฐานในประเทศไทย ทำงานพื้นที่ของสมุทรสาคร แรงงานข้ามชาติที่อพยพมาทำงานในไทย ปัจจุบันสถานการณ์การเมืองพม่าส่งผลต่อการอพยพจำนวนมาก แรงงานที่เข้ามามติคณะรัฐมนตรี MOU แรงงานต่างด้าวมีน้อยลง แต่แรงงานนั้นมาโดยเส้นทางธรรมชาติมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งสถานะอยู่ในกลุ่มที่หลบหนีเข้าเมือง และเอาไปติดคุกไว้ที่ ตม. พอพ้นการลงโทษ 40 วันส่งกลับต้นทางและติด blacklist ซึ่งในกลุ่มนี้ก้มีแรงงานที่ถูกหลอกเข้ามาทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี MOU แต่พอมาถึงจำนวนคนงานเกินโควต้าจึงไม่มีงานทำ และตกเป็นเหยื่อของนายหน้าหางานให้คนต่างด้าว ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3-4 หมื่นบาทต่อคน และที่แย่ที่สุดคือหลายคนได้จ่ายเงินให้นายหน้าแต่ไม่ได้งานทำ และกลายเป็นสถานะคนเข้าเมืองผิดกฎหมายรองานทำในประเทศไทยอย่างหลบๆซ่อนๆ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกบังคับใช้แรงงานและค้ามนุษย์ จำนวนคนต่างด้าวที่ถูกจับกุมกรณคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ในช่วงปี 2563 มีจำนวนเยอะมาก และคนกลุ่มนี้เข้าสู่กระบวนการถูกขูดรีดเงิน ถูกกักตัวคนเข้าเมือง ถูกกระทำโดยไร้การคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน รัฐบาลควรมีวิธีการจัดการที่ดีกว่านี้ การใช้กฎหมายคนเข้าเมืองอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะต้องไทยต้องคำนึงสถานการณ์ไม่ปกติของประเทศเพื่อนบ้านด้วย นอกจากนี้ยังมองว่าข้อกฎหมายไทยด้านกฎหมายแรงงานมีหลายฉบับและล้าหลัง อย่างสิทธิการรวมกลุ่มของแรงงาน ก็ปิดกั้นการรวมกลุ่มของแรงงานข้ามชาติ ทั้งที่เป็นแรงงานที่ทำงานจำนวนมากในประเทศไทย หรือกฎหมายคุ้มครองแรงงานในบ้าน กฎหมายประมงที่คุ้มครองลูกเรือ หรือกฎหมายที่ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่มให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันก็ยังไม่ก้าวหน้า

“คือถ้าดูเนื้องาน เขาปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติไม่ให้คะแนน แม้กระทั้งคนที่อยู่ในโรงงาน 87 98 มันเป็นภาษาสากล แต่โดยธรรมชาติ การรวมกลุ่มรวมตัว มันเป็นสิทธิติดมาตั้งแต่เกิด การไปรวมกลุ่มตีคนนี้จะได้ สิทธิการรวมตัว เจรจาต่อรอง ทำไมห้ามและมีข้อยกเว้นต่อแรงงานข้ามชาติ ขั้นต่ำคุณให้แรงงานข้ามชาติไม่ได้ ให้สอบตกเลย ถ้าอยู่ในระดับสากล คุณไปประเมินกับนานาชาติ บ้านคุณดูแลไม่ดี จะไปดูแลระดับปฏิญญาสากลได้อย่างไร”

พุทธณี กางกั้น ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

พุทธณี กางกั้น ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ภาคประชาชนควรติดตาม ประเทศไทยสมัครเข้าเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  เพราะถือว่าเป็นทิศทางที่ดีที่เราจะได้นำประเด็นเรื่องนี้พูดในเวทีสหประชาชาติ โดยเฉพาะกรณีประเด็นผู้ลี้ภัยในประเทศไทยมีความพยายามอย่างมาก ในการผลักดันให้รัฐบาลไทยใช้กลไกสหประชาติ ในการแก้ปัญหาเรื่องการกักกันผู้คนเหล่านี้ใน ตม. นอกจากนี้ท่าทีต่อสถานการณ์การเมืองประเทศพม่าที่รุนแรงขึ้นและส่งผลให้มีผู้หนีภัยความรุนแรงบริเวณชายแดนจำนวนมาก นโยบายของรัฐบาลพม่าที่การบังคับเกณฑ์ทหาร ส่งผลให้ผู้คนในประเทศพม่าหนีออกนอกประเทศ สิ่งที่ประเทศไทยควรทำ คือทำให้การเรียกร้องให้ประเทศพม่าเขาสู่กระบวนการประชาธิปไตย ประเทศไทยควรร่วมกับอาเซียน หยุดค้าขายอาวุธสงครามให้พม่า และให้ความสำคัญกับการเมืองตัวแทนพม่าหลายฝ่าย ไม่ควรฝักฝ่ายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไทยควรเข้าไปในอนุสัญญากรุงโรมเพื่อมีบทบาทเรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีเพียง ประเทศติมอร์ กับกัมพูชาที่เข้าร่วมอนุสัญญานี้ สำหรับสิ่งที่รัฐบาลต้องทำ หากต้องการจะเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ก็ได้แก่ การเข้าเป็นภาคีว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย การถอนข้อสงวนข้อที่ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ยังมีข้อสงวนนี้อยู่

ส่วนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อไทยนั้น พุทธณี มองว่า แค่การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอาจไม่เพียงพอ และให้ข้อเสนอเพิ่มเติม ดังนี้ 1. ประเทศไทยต้องพิจารณาว่า ควรที่จะร่วมกับอาเซียน เสนอให้อาเซียนมีมาตรการหยุดค้าขายอาวุธกับเมียนมาหรือไม่ เนื่องจากมีรายงานว่า อาวุธที่ใช้ในการสู้รบในเมียนส่วนใหญ่มาจากประเทศในอาเซียน อันนี้ก็เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ความรุนแรงมันดำรงอยู่ 2. รัฐบาลควรจะให้ความสำคัญกับตัวแทนทางการเมืองที่ไม่ใช่ตัวแทนรัฐบาลทหารเมียนมาเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น NUG รัฐบาลพลัดถิ่น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ที่มีพลังทางการเมืองในเมียนมา 3. รัฐบาลไทยควรที่จะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญากรุงโรม เพื่อที่จะเข้าไปมีบทบาทในเรื่องของศาลอาญาระหว่างประเทศ และสามารถส่งประเด็นเรื่องอาชญากรรมกับมวลมนุษยชาติในประเด็นของเมียนมาเข้าไปให้กับอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศพิจารณาได้

ภาพรวมเวทีเสวนาไทยกับเก้าอี้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
: มุมมองจากสถานการณ์การคุ้มครองแรงงานและประชากรข้ามชาติ

กัณวีร์ สืบแสง ประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนต่อสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นแบบไม่ปกติ กล่าวว่า การที่เราจัดตั้ง กมธ. เรื่องโยกย้ายถิ่นฐานไม่ปกติ เพราะประเทศยังมีแนวทางการปฏิบัติต่อกลุ่มผู้โยกย้ายถิ่นฐานไม่ปกติไม่สอดคล้องกับการสมัครชิงเก้าอี้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทยยังมองในมุมของผุ้ดยกย้ายถิ่นฐานเพียงมิติเดียว คือ การเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งการโยกย้ายถิ่นฐานมีเหตุผลที่เข้ามาหลายกลุ่มหลายปัจจัยที่ต้องมีกรอบคิดเรื่องมนุษยธรรม อาทิ ผู้ลี้ภัย กลุ่มไร้รัฐไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ ฯลฯ  นอกจากนี้หากเน้นในจำนวนของผู้โยกย้ายถิ่นฐานไม่ปกตินั้น แรงงานข้ามชาติมีจำนวนมากที่สุด และทางฝ่ายนิติบัญญัติให้ความสำคัญน้อยต่อแรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย ไร้รัฐไร้สัญชาติ ผู้ผลัดถิ่น การบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่ กมธ. เพื่อที่รัฐไทยเปลี่ยนการทำงานเชิงรุกไม่ทำงานเชิงรับอีกต่อไป ฉะนั้น การสมัครชิงเก้าอี้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ควรตระหนักปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน การขังลืมชาวอุยกูร์ ค่ายผู้ลี้ภัยหรือศูนย์พักพิงชั่วคราวบริเวณชายแดนไทย ประมาณ 90,000 คน ชาวโรฮิงญา ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ท่าทีล่าสุดของรัฐบาลไทย “ระเบียงมนุษยธรรม” (humanitarian corridor)  เร่งจัดตั้งศูนย์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา สำรวจพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อเป็นการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สนับสนุนข้าวสาร อาหารแห้ง หรือยารักษาโรค ผ่านสภากาชาดไทยไปยังสภากาชาดเมียนมา โครงการนี้ถือว่าเป็นจุดแรกที่จะส่งความช่วยเหลือเข้าไปผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่ดีของทางรัฐบาลไทย แต่การมีเจตนาที่ดี ต้องเข้าใจว่าความหมายของมนุษยธรรมคืออะไร? สถานการณ์ในเมียนม่ามีความละเอียดอ่อนแค่ไหน การประสานงานกับสภากาชาดพม่าซึ่งควบคุมภายใต้รัฐบาลพม่าจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การหารือหรือคุยกับคู่ขัดแย้งภายในประเทศพม่าอาจจะส่งผลกระทบต่อความไว้วางใจหรือการเลือกฝ่ายในการสนับสนุนหรือก่อความรุนแรง หากไม่เข้าใจความละเอียดอ่อนนี้อนาคตการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมจะถูกปิดประตู การที่ประเทศไทยเลือกสภากาชาดพม่าอย่างเดียวมันจะทำให้ประตูมนุษยธรรมถูกโค้นล้ม ตอนนี้สถานการณ์ในพม่าหลังจากรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ 2564 ทำให้เกิดผู้ลี้ภัยทางการเมืองในพม่าจำนวนมาก รัฐบาลไทยจึงต้องตั้งคำถามและหาคำตอบก่อนการเลือกตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ตุลาคม นี้ ว่า การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนและมีมนุษยธรรมคืออะไร ไม่ใช่ทำงานการกุศล ซึ่งทาง กมธ.ชุดนี้เตรียมนำเสนอการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล