สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดภูเก็ต ปล่อยตัวเด็กสัญชาติเมียนมากลับสู่การดูแลของผู้ปกครองตามขั้นตอนการปฏิบัติงานเรื่อง การกำหนดมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ

เผยแพร่วันที่ 3 เมษายน 2567

ใบแจ้งข่าว

สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดภูเก็ต ปล่อยตัวเด็กสัญชาติเมียนมากลับสู่การดูแลของผู้ปกครอง ตามขั้นตอนการปฏิบัติงานเรื่อง การกำหนดมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ

เมื่อวันที่13 มีนาคม 2567 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้รับการขอความช่วยเหลือจากแรงงานข้ามชาติหญิงชาวเมียนมา ว่าบุตรชายของตนอายุประมาณ 16 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรป่าตอง จับกุมตัวเนื่องจาก มีเพียงหนังสือเดินทางจากประเทศเมียนมา แต่ไม่มีเอกสารแสดงความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง ในฐานะผู้ติดตาม เมื่อเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯเข้าไปให้การช่วยเหลือและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวเด็กจากการควบคุมเนื่องจากผู้เสียหายยังเป็นผู้เยาว์อายุไม่ถึง 18 ปี จะต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546  แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถปล่อยตัวเด็กได้ในวันที่จับกุมเพราะไม่มีเอกสารแสดงสถานะเป็นผู้ติดตาม

ต่อมาวันที่ 14 มีนาคม 2567 ทางตำรวจสถานีตำรวจภูธรป่าตองได้ส่งตัวเด็กชาวเมียนมาไปที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดภูเก็ต โดยความเข้าใจที่ว่าหากเป็นแรงงานข้ามชาติที่อยู่อย่างผิดกฎหมายจะต้องส่งตัวบุคคลดังกล่าวให้ตรวจคนเข้าเมืองเพื่อผลักดันกลับไปยังประเทศต้นทาง แต่ทางเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯเห็นว่า กรณีเช่นนี้ไม่สามารถกักตัวเด็กได้ในสถานกักตัวตรวจคนเข้าเมืองได้ ตาม “คู่มือขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐาน (Standard Operating Procedure-SOP) ภายใต้บันทึกความเข้าใจ เรื่อง การกำหนดมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ” ซึ่งเป็น SOP ที่กรมกิจการเด็กและเยาวชนได้จัดทำ และมีหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็กได้ลงนามร่วมกันไว้[1] ทางมูลนิธิฯจึงประสานงานและทำความเข้าใจร่วมกับพนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่จากตรวจคนเข้าเมืองเพื่อประสานไปยังบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดภูเก็ตให้มีการคุ้มครองเด็กชั่วคราว ขณะที่แม่ของเด็กดำเนินการเรื่องเอกสารความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับเด็ก สถานะการเข้าเมืองของมารดาเพื่อยืนยันกับทางเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง

ภายหลังจากที่มีการยืนยันสถานะของแรงงานข้ามชาติหญิงกับบุตรชายได้แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดภูเก็ต จึงได้มีการปล่อยตัวเด็กอายุ 16 ปี กลับสู่การดูแลของมารดาเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 และรอเข้าสู่กระบวนการแก้ไขให้เป็นผู้ติดตามของมารดาต่อไป

นางสาวเพ็ญพิชชา จรรย์โกมล ผู้ประสานงานโครงการ จากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เห็นว่า  ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ได้กำหนดว่าเด็กทุกคนจะต้องได้รับการคุ้มครองไม่ว่าจะมีสถานะการย้ายถิ่นหรือสิทธิการอยู่อาศัยอย่างไร โดยคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติได้ให้ความเห็นด้วยว่า “การควบคุมตัวเด็กผู้อพยพเป็นการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องต่อหลักการประโยชน์สูงสุดของเด็ก และเป็นการละเมิดสิทธิเด็กในทุกกรณี” ดังนั้น หน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายจึงมีหน้าที่จะต้องเคารพและประกันสิทธิตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาฉบับนี้โดยปราศจากเลือกปฏิบัติและไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ดังนั้น เด็กที่ไม่ใช่คนชาติหรือไม่มีสถานะการเข้าเมืองที่ถูกกฎหมายหรือสิทธิอยู่อาศัยจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับเด็กที่เป็นคนชาติ


ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

[email protected]


[1] https://www.unicef.org/thailand/media/8741/file/Operation%20Guide%20on%20child%20protection%20in%20Immigration%20Detention%20Center%20amid%20the%20COVID-19%20pandemic.pdf