ข้อเรียกร้องจากเครือข่ายแรงงานฯ อ.แม่สอด จ.ตากเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 2567 #MAYDAYMigrant Rights Promotion Working Group – MRPWG

“ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการกวดขันและบังคับใช้กฎหมายกับนายจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน และยกเลิกการปฏิบัติที่ไม่ชอบ เช่น ค่าจ้างค่าแรงที่ต่ำกว่ากฎหมาย การยึดเอกสารบัตรประจำตัวของแรงงานเอาไว้ และการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม”

เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 2567 เครือข่ายส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ ได้ทำงานให้ความช่วยเหลือผู้อพยพพื้นที่ชายแดนจังหวัดตากและส่งเสริม ผลักดันเชิงนโยบายเพื่อสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษย์ชนของบุคคลเคลื่อนย้าย มาเป็นระยะเวลา 19 ปี ขอเรียกร้องประเด็นสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานของผู้อพยพในพื้นที่แม่สอด  และนำเสนอประเด็นเร่งด่วนของพวกเรา เพื่อให้เกิดความตระหนักร่วมกัน ดังต่อไปนี้

สิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายของผู้อพยพ
ทางเครือข่ายฯ ขอเสนอข้อเรียกร้องเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 2567

ปัญหาแรงงานข้ามชาติในพื้นที่แม่สอด ไม่ได้ค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย มีมาเป็นระยะเวลายาวนาน ด้วยลักษณะชายแดนธรรมชาติของพื้นที่ และความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างลูกจ้างที่ส่วนใหญ่มักไม่ได้มีการทำสัญญาตามกฎหมาย ปัญหาเหล่านี้ยากจะแก้ไขหากขาดความร่วมมือของทุกภาคส่วนช่วยกันสอดส่องดูแลอย่างจริงจัง เชื่อว่าหากแรงงานฯในพื้นที่ได้รับการปฏิบัติเสมือนลูกจ้างทั่วไป ได้รับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นค่าแรง สิทธิวันลาหยุด สิทธิที่ได้รับค่าจ้างเพิ่มในการทำงานล่วงเวลา ผู้อพยพเหล่านี้ก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่อื่นเพื่อหาโอกาสที่ดีกว่ามีหลายกรณีที่แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับค่าแรงหลังจากที่ทำงานเป็นเดือน หรือถูกใช้เป็นแรงงานขัดหนี้ ซึ่งหนี้เหล่านั้นคือการที่พวกเขาเข้าใจว่าจ่ายไปกับการนำพวกเขาเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย แต่แล้วแรงงานฯเหล่านี้ ก็พบว่าตัวเองถูกหลอก ไม่มีเอกสาร ถูกส่งกลับประเทศต้นทาง ไม่ได้รับค่าจ้าง และผู้กระทำผิดตัวจริงกลับลอยนวล

ขอเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ แรงงานขัดหนี้ถือเป็นความผิดตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และการฉ้อโกงอันเป็นความผิดทางอาญา ปัญหาเหล่านี้ที่ท้ายสุดแล้วแรงงานผู้อพยพที่ถูกฉ้อโกงกลายเป็นผู้กระทำความผิดที่ตัดสินโดยกฎหมายคนเข้าเมือง เป็นบุคคลที่หลุดออกจากระบบ และไม่มีเอกสารถูกต้อง อันเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรม (Rule of Law) และไม่สามารถแก้ไขปัญหาการละเมิดแรงงานได้อย่างแท้จริง

กรณีการแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานผู้อพยพโดยมิชอบ

ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานด้านการส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติทำการตรวจสอบและดำเนินการกับขบวนการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติ เช่นกระบวนการนายหน้าในการจดทะเบียนแรงงาน และขอให้มีการดำเนินการตรวจสอบการแสวงประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐในระดับท้องถิ่นในการเรียกเก็บเงินจากแรงงานโดยมิชอบ
กรณีเรื่องเอกสารประจำตัวแรงงาน พบว่ามีการถูกหลอกให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงาน จ่ายค่าเอกสารแรงงานที่สูง และ ยึดเอกสารแรงงาน เพื่อเป็นหลักประกัน ซึ่งส่งผลเรื่องการรายงานตัว 90 วัน การแจ้งเข้าและออก ของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งรวมถึงการขากโอกาสในการทำงาน

ในขณะที่ พระราชกำหนดการบริหารการจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 แก้ไข 2561 ยังไม่มีการสรุปข้อแก้ไขที่ชัดเจน เป็นความท้าทายของเครือข่ายฯที่จะลงพื้นที่อบรมแรงงานฯเพื่อให้ความรู้ เมื่อกฎหมายและนโยบายไม่คงที่ แรงงานผู้อพยพนอกจากมีความเสี่ยงทางสถานะและพบอุปสรรคในการจดทะเบียน หลายกรณีที่พบว่าทางเครือข่ายยังได้รับแจ้งกรณีแรงงานฯถูกเรียกเงินเกินความจำเป็น โดยข้ออ้างว่าใช้เพื่อการจดทะเบียนแรงงาน ทำให้พวกเขาต้องทำงานใช้หนี้ เป็นการถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

กรณีการคุ้มครองทางสังคม

ขอเรียกร้องให้มีการนำแรงงานลูกจ้างเข้าสู่ระบบประกันสังคม ขอให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างแท้จริง รวมถึงแก้ไขการเข้าถึงกองทุนเงินประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนให้มีประสิทธิภาพตามบริบทและสถานการณ์ทางเอกสารของประเทศต้นทาง

เครือข่ายฯ อยากขอใช้โอกาสนี้ในการขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐในฐานะผู้ที่เห็นความสำคัญของแรงงานฯเศรษฐกิจในพื้นที่เช่นเดียวกัน ช่วยสอดส่องดูแลและร่วมกันวางแนวทางปฏิบัติเพื่อปกป้องสิทธิของบุคคลทุกคนโดยไม่เลือกในพื้นที่พิเศษแห่งนี้ เพื่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและชดเชยเยียวยาสำหรับบุคคลทุกคน

นอกจากนี้ข้อเสนอในประเด็นเรื่อง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน ของแรงงานผู้อพยพ เสนอแนะให้หน่วยงานด้านสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ประกันสังคม จัดหางาน ระดับจังหวัด ดำเนินการ ตรวจสอบ ติดตาม และส่งเสริม มาตรฐานการทำงานที่ปลอดภัยในสถานประกอบการทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดตาก ตามที่กฎหมายกำหนด
เพื่อเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีในการใช้แรงงานข้ามชาติในจังหวัดตาก จึงขอความร่วมมือให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน นายจ้าง และลูกจ้าง เคารพสิทธิตามหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงานตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดการจ้างงานอย่างเป็นธรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีแรงงานผู้อพยพเป็นกำลังสำคัญอย่างยั่งยืน

เครือข่ายส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ Migrant Rights Promotion Working Group – MRPWG จะเดินหน้าทำงานเพื่อสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่ากัน สร้างความสมานฉันท์ให้แก่บุคคลในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตาก เพื่อการพัฒนาวิถีชีวิตและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนต่อไป
#mayday #แม่สอด #ตาก #คลินิกกฎหมายแม่สอด #LLC #HRDF