เครือข่ายองค์กรแรงงานด้านประชากรข้ามชาติและมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ยื่นข้อเสนอ ในเวทีรับฟังความคิดเห็น ร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่…) พ.ศ…. จัดโดยกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567


29 พฤษภาคม 2567

เรื่อง ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อการบังคับใช้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518

เรียน 1.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

2. อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

            ตามที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่….) พ.ศ…ทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติและองค์กรภาคี[1] ขอนำเสนอข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อร่างพรบ.แรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่…) พ.ศ… ดังนี้

  1. ร่างพรบ.แรงงานสัมพันธ์ ฯ  ยังมีข้อยกเว้นมิให้ใช้กฎหมายบังคับแก่บางองค์กร บางหน่วยงาน กลุ่มราชการ

รัฐวิสาหกิจ แม้จะให้สิทธิในการรวมกลุ่ม โดยไม่กระทบประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน นั้น     แต่การจัดทำกฎหมายแรงงานสัมพันธ์แบบแยกส่วนเป็นหลายฉบับ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่ากระทบต่อมาตรฐานและหลักการแรงงานสัมพันธ์

ข้อเสนอ  ให้จัดทำกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์เป็นฉบับเดียว

เพื่อให้แรงงานทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบ อยู่ภายใต้หลักการและมาตรฐานแรงงานสัมพันธ์เดียวกัน  มีเสรีภาพในการรวมตัว และมีความยืดหยุ่นในการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเดียวกันได้ สหภาพแรงงานมีความเชื่อมโยงกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเป็นปึกแผ่นให้แก่ขบวนการแรงงานอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบแรงงานสัมพันธ์[2]

เพื่อให้หลักการและมาตรฐานด้านแรงงานสัมพันธ์ไม่เบี่ยงเบน แตกต่างจนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการและมาตรฐานในทางสากล

หากมีความจำเป็นที่จะต้องทำกฎหมายเป็นหลายฉบับ ก็จะต้องให้มีหลักประกันว่าแรงงานภาคเอกชน แรงงานภาครัฐวิสาหกิจ และแรงงานภาครัฐ รวมทั้งแรงงานนอกระบบ  มีมาตรฐานและหลักการด้านแรงงานสัมพันธ์เป็นอย่างเดียวกัน และกฎหมายต้องมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน 

  • นิยาม “นายจ้าง”และ “ลูกจ้าง” แม้จะแก้ไขให้สอดคล้องเพื่อคุ้มครองลูกจ้างรับเหมาค่าแรง (ร่างมาตรา 4

และ 39) แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมคนทำงาน หรือผู้ประกอบอาชีพตามสัญญาจ้างทำของ รวมทั้งแรงงานนอกระบบที่ไม่มีนายจ้าง เครือข่ายฯเห็นว่า โลกของการจ้างงาน และธุรกิจได้แปรเปลี่ยนไปอยางกมาก ก่อให้เกิดรูปแบบและความสัมพันธ์ในการจ้างที่มีมากกว่าความเป็นนายจ้างกับลูกจ้าง ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับทำงานในรูปแบบใหม่ๆ ไม่อยู่ในขอบเขตการบังคับใช้กฎหมาย กฎหมายจึงขาดความครอบคลุมและไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ของสังคมที่แปรเปลี่ยนไปอย่างมาก ซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ

ข้อเสนอ ควรแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้มีความครอบคลุมคนทำงานทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าคนทำงานดังกล่าวจะมีความสัมพันธ์ในทางกฎหมายเป็นนายจ้างกับลูกจ้างหรือไม่ และให้ระบบแรงงานสัมพันธ์เป็นมาตรฐานและหลักการเดียวกัน

  • กลไกการระงับข้อพิพาท

เครือข่ายฯ เห็นว่า องค์ประกอบของบุคคล คณะบุคคล และครส. ที่มีอำนาจหน้าที่ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามกฎหมายหรือตามที่รมต.แรงงานกำหนดให้ทำหน้าที่ระงับข้อพิพาทยังขาดความเหมาะสม ความหลากหลาย และกระบวนการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน เป็นการบริหารจัดการภายใน ยังขาดรูปแบบหรือกระบวนการที่มีความชัดเจน และลูกจ้างหรือผู้ทำงานไม่มีส่วนร่วม

ข้อเสนอ ส่งเสริมให้บุคคล หรือคณะบุคคล หรือครส. มีบทบาทในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน  หรือวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานที่สามารถหาทางออกให้เกิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเจตนารมณ์ของฝ่ายเรียกร้อง มีความเหมาะสมเป็นธรรมตามสภาวการณ์ และควรมีองค์ประกอบของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

  • การปิดงานและการนัดหยุดงาน

เครือข่ายฯ เห็นว่า ยังมีหลายประเภทกิจการที่กฎหมายจำกัดสิทธิในการปิดงานและนัดหยุดงาน ซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ขั้นตอนการปิดงานและนัดหยุดงานมีปัญหาในทางปฏิบัติและปัญหาข้อกฎหมายมากมาย  เช่น

  • การปิดงานหรือนัดหยุดงานเฉพาะส่วน กับการปิดงานเฉพาะคน การนัดหยุดงานหรือการปิดงานเป็นช่วงๆ ทำได้หรือไม่
  • คนที่ไม่ได้เข้าชื่อหรือไม่ได้เป็นสมาชิกจะเข้าร่วมนัดหยุดงานได้หรือไม่
  • กรณีมีการยื่นข้อเรียกร้อง และถึงขั้นตอนที่นายจ้างที่เป็นสถานประกอบการใช้สิทธิปิดงาน ย่อมกระทบต่อลูกจ้างเหมาค่าแรงซึ่งตามกฎหมายไม่อาจจะถือได้ว่าลูกจ้างดังกล่าวเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง สถานประกอบกิจการจะอ้างสัญญาจ้างเหมาส่งตัวลูกจ้างคืนนายจ้างของลูกจ้างเหมาค่าแรง ซึ่งส่วนใหญ่พบว่านายจ้างกับสถานประกอบการตั้งอยู่คนละจังหวัดหรือห่างไกล
  • ในกรณีนายจ้างกับลูกจ้างมีปัญหาข้อขัดแย้งกัน หรือบรรยากาศแรงงานสัมพันธ์ไม่ดี เมื่อมีการยื่นข้อเรียกร้องต่อกันก็จะส่งผลต่อการเจรจาข้อเรียกร้อง คือแทบจะเจรจากันไม่ได้เลย นายจ้างก็มักจะใช้วิธีรีบเร่งให้ถึงขั้นตอนปิดงานและไม่ประสงค์เจรจาหาข้อยุติ ซึ่งตามกฎหมายก็ไม่มีเงื่อนไขหรือกรอบเวลาว่าจะปิดงานกันได้นานเท่าใด จึงมักพบการปิดงานแบบไม่มีวันจบสิ้น ลูกจ้างจึงได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก นอกจากนี้ กรณีลูกจ้างหรือสมาชิกสร.ที่ถูกปิดงาน หากตั้งครรภ์หรือเจ็บป่วยอยู่ในระหว่างการรักษาของแพทย์ หรือตกอยู่ในภาวะยากลำบากยิ่ง ซึ่งยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายหรือทางนโยบายในการดูแลลูกจ้างหรือผู้ทำงานดังกล่าว 

ข้อเสนอ

1.แม้ว่ากระบวนการเรียกร้องและเจรจาต่อรองเดินไปถึงขั้นตอนนัดหยุดงานหรือปิดงานได้แล้ว ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันเสนอเรื่องให้ไกล่เกลี่ยต่อไป หรือจะไปเจรจากันเอง หรือตั้งผู้ชี้ขาดก็ได้ ถ้าฝ่ายใดไม่พอใจในคำชี้ขาดให้ฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน

2.เห็นควรให้มีมาตรการต่อการปิดงานและการนัดหยุดงานในกิจการที่เป็นบริการสาธารณะที่สำคัญ  ดังนี้

  1. กิจการบริการสาธารณะที่สำคัญ ได้แก่ ไฟฟ้า ประปา โทรคมนาคม บริการการเดินอากาศ  กิจการขนส่งทั้งทางบก น้ำ และทางอากาศรวมทั้งกิจการที่เสริมการขนส่งดังกล่าว และ
    1. กิจการที่ ครส. ประกาศกำหนด ต้องทำแผนบริการขั้นต่ำที่จำเป็นไว้ล่วงหน้าหากจะมีการปิดงาน/นัดหยุดงาน  เพื่อให้มีบริการต่อเนื่องและเกิดความปลอดภัยต่อชีวิตหรือสุขภาพของประชาชน

3.ให้นายจ้างและผู้แทนสร. หรือผู้แทนลูกจ้างโดยเลือกตั้งร่วมกันทำแผนบริการขั้นต่ำที่จำเป็น     โดยให้กำหนดกรอบของแผนไว้ในกฎหมาย  ให้แผนบริการขั้นต่ำผูกพันนายจ้าง สร. ลูกจ้างและผู้ถูกกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามแผนฯ  และก่อนนัดหยุดงานในกิจการดังกล่าว ฝ่ายที่จะนัดหยุดงานต้องแจ้งนายจ้างล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๗ วันและประกาศให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้าภายในระยะเวลาอย่างเดียวกัน

4.ในระหว่างนัดหยุดงานหรือปิดงาน ห้ามนายจ้างทำสัญญาจ้างหรือบริหารจัดการในทางใดเพื่อให้บุคคลหรือนิติบุคคลใดเพื่อทำงานแทนที่ลูกจ้างซึ่งนัดหยุดงานหรือที่นายจ้างปิดงาน

5.ตัดหลักการลงคะแนนเสียงนัดหยุดงาน ที่กำหนดให้มติที่ประชุมใหญ่การนัดหยุดงานต้องมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดของสหภาพแรงงานและการลงคะแนนเสียเป็นการลับ

  • การจัดตั้งองค์กรลูกจ้าง และองค์กรนายจ้าง

เครือข่ายฯ เห็นว่า กฎหมายแรงงานสัมพันธ์มีแนวคิดเน้นการควบคุม และจำกัดสิทธิและเสรีภาพในระบบแรงงานสัมพันธ์  ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาความไม่สอดคล้องกับมาตรฐานทางสากล  เช่น การรวมตัวจัดตั้งองค์กรของลูกจ้างและนายจ้างต้องได้รับการจดทะเบียนจากรัฐ นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้เลิกองค์กรนายจ้างและองค์กรแรงงานได้

ข้อเสนอ การจัดตั้ง วัตถุประสงค์ และการดำเนินงานขององค์กรนายจ้างและลูกจ้าง ต้องมีสิทธิ อิสระและเสรีภาพ โดยปราศจากการควบคุมหรือการอนุมัติ

  • การกระทำอันไม่เป็นธรรม

เครือข่ายฯ เห็นว่า บทบัญญัติของกฎหมายยังไม่ครอบคลุมถึงการกระทำต่างๆ ในขั้นตอนการเตรียมการ หรือริเริ่มก่อการรวมตัวจัดตั้งองค์กร ซึ่งมีกิจกรรมทั้งในส่วนการอบรมความรู้ความเข้าใจต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับหลักการด้านแรงงานสัมพันธ์ ตลอดจนกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ มิได้จำกัดเฉพาะการประชุมก่อการหรือการยื่นเรื่องเพื่อจดแจ้งเท่านั้น

บทบัญญัติของกฎหมายเป็นเชิงตั้งรับ คือนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างหรือกระทำการใดๆ ต่อลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับการรวมตัวหรือการเรียกร้องได้ก่อน แล้วค่อยไปใช้สิทธิต่อสู้กันในศาลแรงงาน ทำให้ลูกจ้างไม่สามารถใช้สิทธิของตนในการรวมตัวต่อรองได้  มีภาระต้องไปใช้สิทธิหรือต่อสู้คดีทางศาล จึงไม่เอื้อต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายในการคุ้มครอง

กรณีศึกษา กรณีแรงงานข้ามชาติที่ถือบัตรผ่านแดนขึ้นทะเบียนเป็นแรงงาน ตามมาตรา 64 ของพรก.บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 นั้น ที่กำหนดเงื่อนไขให้คนงานต้องต่อใบอนุญาตการทำงานคราวละ 3 เดือนมาโดยตลอด จนอายุงานรวมทั้งสิ้น 3-4 ปีแล้ว  ครั้นลูกจ้างดังกล่าวได้รวมตัวกันเข้าชื่อยื่นข้อเรียกร้องเพื่อจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เมื่อมีเหตุขัดแย้งหรือนายจ้างไม่พอใจการยื่นข้อเรียกร้อง  นายจ้างจึงไม่ดำเนินการให้ลูกจ้างยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงาน มีปัญหาในการตีความทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรม ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องสิทธิของนายจ้างที่จะต่ออายุการจ้างหรือไม่ ทั้งๆที่มีเหตุขัดแย้งชัดเจน

ข้อเสนอแนะ    

1. ให้มีมาตรการทางกฎหมาย คุ้มครองลูกจ้างหรือผู้ทำงาน ซึ่งเป็นผู้เตรียมการจัดตั้งสหภาพแรงงาน มิให้ถูกเลิกจ้างหรือลงโทษทางวินัย หรือครอบคลุมการกระทำใดๆที่ส่อไปในลักษณะกลั่นแกล้ง หรือต่อต้านสหภาพแรงงาน

 2. ให้มีมาตรการทางกฎหมายคุ้มครองกรรมการผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงาน กรรมการสหภาพแรงงาน อนุกรรมการที่สหภาพแรงงานแต่งตั้ง   ผู้แทนในการเจรจาข้อเรียกร้อง และที่ปรึกษาในการเจรจาข้อเรียกร้อง

ในการเลิกจ้าง การลงโทษทางวินัย การกระทำใดๆที่ส่อไปในทางกลั่นแกล้งหรือต่อต้านหรือกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายจะกระทำมิได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล และกำหนดเงื่อนไขทางกฎหมายที่จะอนุญาตให้เลิกจ้างได้ไว้โดยแจ้งชัด

3.ขยายขอบเขตการคุ้มครอง ให้ครอบคลุมถึงการยื่นคำร้องหรือการใช้สิทธิตามกฎหมายที่เกี่ยวกับแรงงานทั้งหมด  โดยให้รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับการทำงานของแรงงานต่างด้าวและการบริหารแรงงานภาครัฐด้วย รวมทั้งให้ขยายการคุ้มครองกรณีนายจ้างกับลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง หรือสหภาพแรงงานมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกันทางศาลไม่ว่าเป็นคดีแรงงานหรือคดีอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาหรือข้อขัดแย้งด้านแรงงาน

4. แก้ไข ม. 121 ของพรบ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ให้ครอบคลุมกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้

4.1 นายจ้างปฏิเสธไม่รับผู้สมัครงานเป็นลูกจ้างหรือผู้ทำงาน โดยเหตุที่เคยเป็นสมาชิกสร.  หรือเป็นกรรมการ สร. หรือเคยร่วมกิจกรรมของสร.มาก่อน

4.2 กรณีลูกจ้างหรือองค์กรฝ่ายลูกจ้างได้ใช้สิทธิร้องเรียนกล่าวหานายจ้างต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กลไกจรรยาบรรณทางธุรกิจ และธุรกิจกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้วย

5. ให้มีหลักการให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นมูลละเมิด เนื่องจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามกฎหมายด้วย  เนื่องจากกระทบสิทธิในเรื่องการรวมตัวจัดตั้งองค์กร หรือการรวมตัวเพื่อการเรียกร้องและเจรจาต่อรองเพื่อทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้เกิดความเป็นธรรม

  • บทกำหนดโทษ เครือข่ายฯ เห็นว่า โทษในทางอาญายังขาดความเหมาะสม ไม่มีสภาพบังคับที่จะทำให้นายจ้างหรือบุคคลใดผู้ฝ่าฝืนหรือกระทำผิดกฎหมายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือยำเกรงต่อโทษอาญา อีกทั้งในความเป็นจริงก็ไม่มีการใช้มาตรการทางอาญาเพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ตรงกันข้ามมาตรการทางอาญากลับถูกนำมาใช้กับฝ่ายแกนนำสหภาพแรงงาน หรือลูกจ้างที่เป็นแกนนำ หรือบุคคลอื่นที่เข้ามาช่วยเหลือลูกจ้างในกระบวนการเรียกร้องและเจรจาต่อรอง

ข้อเสนอแนะ ควรทบทวนมาตรการทางอาญาและโทษให้เหมาะสมกับสถานการณ์และพฤติการณ์แห่งการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อหลักการสำคัญของกฎหมาย โดยจัดเป็นกลุ่มหรือระดับความผิดทางอาญา เพื่อจะได้กำหนดโทษที่เหมาะสม   ส่วนความผิดที่ไม่ร้ายแรง หรือไม่กระทบหลักการสำคัญของกฎหมาย หรือสังคมส่วนรวม ก็เห็นด้วยกับการปรับเป็นพินัย


รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ อดิศร เกิดมงคล เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ 089 788 7138 email: [email protected]


[1] เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ หรือ Migrant Working Group (MWG) เป็นเครือข่ายขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับประชากรข้ามชาติด้านสุขภาพ การศึกษา และสิทธิแรงงานข้ามชาติ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการแลกเปลี่ยนข้อมูลของเครือข่ายประชากรข้ามชาติ การวิเคราะห์ปัญหา กำหนดประเด็นเชิงนโยบายและการดำเนินกิจกรรมร่วมกัน ในงานรณรงค์กับหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชากรข้ามชาติได้รับสิทธิพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิต 

[2] ปัญหาหลายมาตรฐาน เช่น – พรบ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ให้สิทธิใน หนึ่ง สถานประกอบการมีได้หลายสร. แต่ตามพรบ.รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543  ให้ 1 รัฐวิสาหกิจมีได้เพียง 1 สร.และให้สร.เท่านั้นมีสิทธิยื่นข้อเรียกร้อง