ใบแจ้งข่าว ศาลแรงงานภาค 9 นัดไกล่เกลี่ย คดีฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กรณีผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ 8 รายถูกฟ้องเป็นจำเลยร่วมในคดีแรงงาน

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 ทางมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ได้รับการประสานขอความร่วมมือจากทางสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ (ชาย) จังหวัดระนอง เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายให้กับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทั้ง 8 คน เพื่อต่อสู้คดี ที่ผู้เสียหายทั้ง 8 คนถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีแรงงาน

โดยเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 เวลา 10.00 น.  ณ ศาลจังหวัดตรัง  ศาลแรงงานภาค 9 ได้นัดไกล่เกลี่ยคู่ความทั้ง 2 ฝ่ายในคดีแรงงาน หมายเลขดำที่ 226/2556 โดยมีห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญลาภการประมงเป็นโจทก์ ฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตรังที่ 19/2556 ลงวันที่ 4 กันยายน 2556โดยฟ้องกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นจำเลยที่ 1, พนักงานตรวจแรงงาน จำเลยที่ 2 และผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทั้ง 8 รายในฐานะลูกจ้างผู้มีส่วนได้เสียในคดีเป็นจำเลยร่วม

ทั้งนี้ ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าว มีว่า 1) ห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญลาภการประมง(โจทก์) เจ้าของเรือเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการออกเรือทั้งหมด ไต๋เรือมีหน้าที่ออกไปหาปลา และนำผลตอบแทนมาแบ่งกัน ดังนั้นจึงถือว่าหจก.บุญลาภการประมงเป็นนายจ้างร่วมกับไต๋เรือทั้งสามคน และ 2) เนื่องจากไม่มีเอกสารการจ่ายค่าจ้าง ตามที่กฎกระทรวงฉบับที่ 10 กำหนด จึงยังเชื่อไม่ได้ว่าได้จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างแล้ว จึงมีคำสั่งให้ ห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญลาภการประมงจ่ายค่าจ้างให้กับจำเลยร่วมทั้ง 8 คน ในจำนวนคนละ 28,000 บาท

โดยประเด็นตามฟ้องโจทก์ที่ขอให้ศาลแรงงานภาค 9 เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานมีว่า 1) โจทก์และไต๋เรือ ซึ่งยืนยันว่าได้จ่ายค่าจ้างให้ลูกเรือหมดแล้ว นอกจากนี้ยังมีพยานเอกสารและพยานบุคคลรู้เห็นคือ การใช้สมุดบันทึกรายละเอียดการรับจ่ายเงินของลูกเรือแต่ละคนที่ไต่ก๋งและเจ้าของเรือได้จัดทำข้อมูลลูกเรือแต่ละคน แม้จะไม่ได้ทำเป็นการ์ดประจำตัวลูกเรือ แต่มีรายละเอียดสำคัญตามที่กฎกระทรวงฉบับที่ ๑๐ กล่าวไว้ กล่าวคือ มีรายละเอียดชื่อ,ตำแหน่งหน้าที่อัตราจำนวนค่าจ้างการเบิกค่าจ้างแต่ละครั้ง และการเบิกค่าจ้างงวดสุดท้ายเพื่อปิดบัญชี เพียงแต่ไม่มีการลงชื่อของลูกเรือในการรับเงิน และ 2) พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งเกินกว่า 60 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องจากจำเลยร่วมทั้ง 8 คน อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 124 ซึ่งกำหนดให้พนักงานตรวจแรงงานต้องมีคำสั่งภายใน 60 นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

โดยกระบวนการไกล่เกลี่ยในวันนัดดังกล่าวเริ่มจากการที่ผู้พิพากษาศาลแรงงานได้แจ้งถึงกระบวนการไกล่เกลี่ยและเหตุผลในการนัดคู่ความไกล่เกลี่ยในวันนัดดังกล่าวให้กับคู่ความทั้งสองฝ่ายทราบ กล่าวคือ เพื่อให้คู่ความมาเจรจาตกลงกันเพื่อไกล่เกลี่ยในส่วนของจำนวนค่าจ้าง และยกเอาประเด็นในเรื่องความล่าช้าหากคดีดังกล่าวเข้าสู่กระบวนพิจารณาสืบพยาน มาเป็นเหตุปัจจัยในการสนับสนุนกระบวนการไกล่เกลี่ยอีกว่า หากมีการตกลงกันได้ จำเลยร่วมจะได้รับเงินกลับไปในวันนี้และการพิจารณาคดีจะจบลงโดยจำเลยทั้ง 8 ไม่ต้องมาศาลอีก แต่หากตกลงกันไม่ได้ ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนพิจารณาสืบพยานต่อไปซึ่งอาจใช้เวลานาน และไม่แน่ว่าศาลจะพิพากษาให้ได้เต็มตามจำนวนที่จำเลยทั้ง 8 ร้องขอมาหรือไม่ เนื่องจากศาลต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานที่นำสืบในชั้นพิจารณาอีกครั้ง

หลังจากนั้น ศาลได้ถามถึงความสมัครใจว่าจำเลยทั้ง 8 ประสงค์จะตกลงในเรื่องจำนวนค่าจ้างหรือไม่ ซึ่งในตอนแรก จำเลยทั้ง 8 ยืนยันว่าจำเลยทั้ง 8 ประสงค์จะรับค่าจ้างในจำนวน 28,000 บาท ตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ศาลจึงเสนอให้จำเลยทั้ง 8 ในจำนวน 20,000 บาท ทางจำเลยทั้ง 8 เสนอในจำนวน 25,000 บาท ศาลเสนออีกครั้งในจำนวน 18,000 บาท โจทก์เสนอจำนวน 15,000 บาท จำเลยทั้ง 8 เสนอ 20,000 บาท หลังจากนั้นศาลให้ทางเจ้าหน้าที่บ้านสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ(ชาย)ซึ่งเป็นผู้ดูแลจำเลยร่วมทั้ง 8 ภายใต้ความคุ้มครองของสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ (ชาย) จังหวัดระนอง และเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา พาจำเลยทั้ง 8 ออกไปพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่งนอกห้องพิจารณา

หลังจากที่ได้พูดคุยกันกับจำเลยทั้ง 8 มีจำเลย 2 คนที่ตกลงค่าจ้างในจำนวน 15,000 บาท หลังจากนั้นทางนิติกรกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ออกมาพูดคุยกับจำเลยทั้ง 6 คนอีกครั้งหนึ่ง และทางจำเลยขอเสนอที่จำนวน 18,000 บาท จากนั้นทางโจทก์จึงขอเสนอที่ 16,000 บาท เมื่อจำเลยทั้ง 6 ได้พูดคุยกันจึงตกลงในจำนวน 16,000 บาท

โดยศาลได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยโจทก์ตกลงจ่ายเงินให้จำเลยร่วมทั้ง 8 เป็นเงินสด คนละ16,000 บาทในวันนัดไกล่เกลี่ยดังกล่าว และจำเลยร่วมทั้ง 8 ได้รับเงินแล้วในวันนั้น

ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงเบื้องต้นในส่วนของจำเลยร่วมทั้ง 8 กล่าวคือ ทั้ง 8 คนเป็นชาวพม่าซึ่งตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์บนเรือประมง ซึ่งแต่ละคนเข้ามาหางานทำในประเทศไทยต่างเวลา ต่างสถานที่กัน แต่ถูกหลอกมาทำงานประมงบนเรือที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง โดยนายหน้าชาวพม่าคนเดียวกันคือ นายโกมิวและพวก ซึ่งกระบวนการในการนำพาผู้เสียหายทั้ง 8 คน มายังท่าเรือมีรูปแบบและวิธีการเช่นเดียวกัน หลังจากนั้น ผู้เสียหายทั้ง 8 คนถูกบังคับให้ทำงานบนเรือโดยไม่ได้รับค่าจ้างเลยแม้แต่บาทเดียว อีกยังทั้งถูกนายโกมิว และลูกน้องของนายโกมิวทำร้ายร่างกาย ซึ่งผู้เสียหายทั้ง 8 คนถูกนายโกมิวและพวกบังคับใช้แรงงานเป็นเวลา 5 เดือนเศษ จนกระทั้งเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าไปช่วยเหลือออกมาได้ โดยขณะนี้ผู้เสียหายทั้ง 8 คน เข้าสู่กระบวนการคุ้มครองผู้เสียหายตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ภายใต้การดูแลของสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ (ชาย) จังหวัดระนอง

ในส่วนของคดีค้ามนุษย์ ณ ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนของพนักงานอัยการจังหวัดตรังในการดำเนินกระบวนการสืบพยานล่วงหน้าก่อนฟ้องคดี ณ ศาลจังหวัดตรัง

ข้อมูลเพิ่มเติม :      ติดต่อ นางสาวณัฐนันท์   ใจซื่อ

  ผู้ประสานงานโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

  โทร 02-2776882 หรือ มือถือ 089-9257291

  E-mail: [email protected]